นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ(ครม.)วันนี้ได้ฝากข้อสังเกต 4 ประเด็นต่อเลขาธิการคณะกรรมการประกอบกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)เกี่ยวกับการประมูลใบอนุญาตให้บริการระบบ 3G เนื่องจากเป็นห่วงความชัดเจนในหลักเกณฑ์การประมูล
สำหรับข้อสังเกตดังกล่าว ได้แก่ การดำเนินการเปิดประมูลให้พิจารณาผลกระทบต่อรายได้ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมทั้ง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เนื่องจากมองว่าฐานลูกค้าจะต้องเปลี่ยนจากระบบเดิมมาใช้บริการ 3G ขณะที่ทั้งสองหน่วยงานเป็นผู้ให้สัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเดิม
กทช.ควรจะกำหนดความชัดเจนเงื่อนไขการประมูล เช่น การลงทุนโครงข่ายหรือกรณีการเช่าใช้โครงข่าย ผู้เข้าประมูลจะต้องเป็นโครงข่ายของตัวเองหรือโครงข่ายใหม่ ไม่ใช่โครงข่ายเดิมที่ให้บริการอยู่ที่จะต้องส่งมอบให้กับหน่วยงานเจ้าของสัมปทานเดิม , สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ลงทุนต่างประเทศทั้งในบริษัทและหน่วยงานรัฐที่จะเข้าประมูลจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดผลกระทบด้านความมั่นคงเหมือนในอดีต
และ การปฏิบัติตามกฎหมายบางมาตราในเรื่องการจัดแบ่งรายได้ โดยเห็นว่า กทช.ไม่ควรเน้นที่มูลค่าใบอนุญาตเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้คิดถึงแผนงานหรือผลกระทบด้านอื่นมาประกอบด้วย
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า หลักการใหญ่นั้นรัฐบาลเห็นว่าโครงการนี้ควรจะเร่งรัดโดยเร็ว เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ซึ่งในส่วนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้น ทางทีโอที ที่ได้รับสิทธิ 3G บนคลื่นใหม่ไปแล้วและอยู่ระหว่างการลงทุนวางโครงข่าย ก็ยืนยันว่าพร้อมจะแข่งขันกับภาคเอกชน เชื่อว่าเมื่อถึงเวลากลไกในด้านการตลาดก็จะเป็นตัวกำหนดให้ทีโอทีจะต้องมีการปรับรูปแบบการบริการให้สามารถแข่งขันได้ โดยไม่ได้หวังรายได้แค่จากค่าสัมปทานเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ กทช.ยังยืนยันว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ หลังจากนี้จะมีการทำประชาพิจารณ์รอบ 2 และออกเงื่อนไขการประมูล โดยจะเปิดประมูลใบอนุญาตได้ภายในปีนี้ คาดว่าจะมีผู้ให้บริการประมาณ 4-6 ราย ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาด 3G อยู่ในระดับที่เหมาะสม