บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บม.จ น้ำประปาไทย (TTW) ที่ระดับ “AA-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาขายน้ำขั้นต่ำระยะยาว และความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้ง พิจารณาถึงความสามารถของคณะผู้บริหารและอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงด้วย แต่ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้ในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงจากการมีการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นลูกค้าหลักเพียงรายเดียว
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะผู้นำในการเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนและคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเอาไว้ได้ โดยที่การลงทุนในอนาคตควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบซึ่งจะต้องไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและสภาพคล่อง ทั้งนี้ การให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทแม่ที่มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่าจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า TTW เป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศซึ่งมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 756,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน บริษัทก่อตั้งในปี 2543 โดยบมจ.ช. การช่าง (CK) และ บริษัท เธมส์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หลังจากที่บริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 แล้ว CK ก็มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 35.0% ในขณะที่ บริษัท มิตซุย วอเตอร์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือ 25.9%
บริษัทประกอบกิจการโรงผลิตน้ำประปา 3 โรง และเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาใน 3 พื้นที่คือเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาครและในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินซึ่งบริษัทเป็นผู้ดำเนินการโดยตรง และในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานีซึ่งดำเนินการโดยบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้น 98% คือ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด บริษัทให้บริการน้ำประปาภายใต้สัญญาซื้อขายน้ำประปากับ กปภ. อายุ 25 ปีซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2566 และอายุ 30 ปีซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2577 ปัจจุบัน กปภ. มีพันธะในการรับซื้อน้ำประปาจากบริษัทในปริมาณขั้นต่ำจำนวน 610,000 ลบ.ม./วัน ทั้งนี้ สูตรการคำนวณอัตราค่าน้ำจะเป็นไปตามดัชนีราคาผู้บริโภค
ปัจจุบัน บริษัทกำลังขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตขนาด 120,000 ลบ.ม./วัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2553 โดยปริมาณน้ำขั้นต่ำที่ กปภ. รับซื้อจะเพิ่มขึ้นจาก 9,000 ลบ.ม./วัน ณ ปีแรกที่เปิดให้บริการเป็น 54,000 ลบ.ม./วันในปีที่ 6 นอกจากนี้ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2552 บริษัทได้ซื้อสิทธิจาก บริษัท ที่ดินบางปะอิน จำกัด เพื่อดำเนินการผลิต จำหน่าย และให้บริการน้ำประปา รวมทั้งให้บริการบำบัดน้ำเสียในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินระยะเวลานาน 30 ปี โดยต้นทุนในการซื้อสิทธิดังกล่าวมีมูลค่า 1,400 ล้านบาทรวมโรงผลิตน้ำประปาขนาด 48,000 ลบ.ม./วัน และโรงบำบัดน้ำเสียขนาด 18,000 ลบ.ม./วัน ภายใต้เงื่อนไขของสิทธิในการดำเนินงานนั้นบริษัทจะเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้ประกอบการในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินโดยตรงซึ่งเป็นการขยายจำนวนฐานลูกค้า
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีความเสี่ยงจากการมี กปภ. เป็นลูกค้ารายใหญ่เพียงรายเดียว กระนั้นสถานะความน่าเชื่อถือของ กปภ. ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจก็อยู่ในระดับที่รับได้ ถือว่ามีความเสี่ยงจากการดำเนินงานในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่นๆ เนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตน้ำประปาไม่ซับซ้อน
แต่ธุรกิจผลิตน้ำประปาต้องใช้เงินลงทุนสูงในการสร้างโครงข่ายระบบส่งและจ่ายน้ำ อีกทั้งบริษัทยังเป็นเจ้าของท่อน้ำประธานและท่อจ่ายน้ำในพื้นที่ให้บริการบางส่วนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว แหล่งน้ำที่มีเพียงพอและคุณภาพน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตน้ำประปา แหล่งน้ำที่สำคัญในการผลิตน้ำประปาของบริษัทมาจากแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่มีปริมาณน้ำเพียงพอ แม้แหล่งน้ำแต่ละแห่งจะมีคุณภาพน้ำที่แตกต่างกัน แต่บริษัทก็สามารถนำน้ำไปผลิตเป็นน้ำประปาคุณภาพสูงได้เช่นเดียวกัน
ในปี 2551 บริษัทมียอดขายน้ำประปาของกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมในสัดส่วนสูงที่สุดที่ระดับ 42.6% ของยอดขายน้ำทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มลูกค้าครัวเรือนมีสัดส่วน 32.3% และกลุ่มลูกค้าพาณิชยกรรมมีสัดส่วน 25.1% ยอดขายน้ำประปาของทุกพื้นที่บริการเพิ่มขึ้น 9.0% ในปี 2550 และ 7.4% ในปี 2551
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ยอดขายน้ำประปาของบริษัทเพิ่มขึ้นเพียง 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากผลของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งกระทบต่อการใช้น้ำของกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาคร โดยที่ปริมาณการใช้น้ำในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ในพื้นที่ดังกล่าวลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าปริมาณการใช้น้ำจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
TTW มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเนื่องจากการมีโครงสร้างสัญญาที่ดีกับ กปภ. อีกทั้งยังมีความต้องการน้ำที่อยู่ในระดับสูง โดยกระแสเงินสดภายในเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 2,590 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 3,605 ล้านบาทในปี 2551 เนื่องจากการรับรู้รายได้จากบริษัทประปาปทุมธานีในครึ่งหลังของปี 2550 สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2552 รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 14% สู่ระดับ 1,961 ล้านบาทเนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งใช้เป็นปัจจัยในการคำนวณราคาขาย ในปี 2551 รายได้จากเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาครมีสัดส่วน 66% ของรายได้ทั้งหมด โดยส่วนที่เหลือมาจากเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายอยู่ในระดับสูงที่ 78%-80% เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 1,434 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 2,099 ล้านบาทในปี 2551 สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 32% เป็น 1,297 ล้านบาท
เงินกู้รวมของบริษัทลดลงอย่างมากจากระดับ 13,966 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 เป็น 9,310 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 เนื่องจากบริษัทนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนครั้งแรกไปจ่ายคืนหนี้ระยะสั้น ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 10.5% ในปี 2550 เป็น 22.5% ในปี 2551 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจากระดับ 74.4% ณ สิ้นปี 2550 สู่ระดับ 52.8% ในปี 2551 เงินกู้รวมของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 10,021 ล้านบาทเนื่องจากการลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกำลังการผลิต
สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 12.9% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 54.9% ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทได้รับอนุมัติวงเงินกู้จากธนาคารจำนวน 1,500 ล้านบาทเพื่อใช้ในการซื้อสิทธิในการดำเนินงานและให้บริการในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน