ประชาพิจารณ์ 3G รอบ 2 เอกชนรุมค้านแนวคิดแปรสัญญาสัมปทานโทรมือถือรายเดิมก่อนเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3G ห่วงเป็นประเด็นทำให้เกิดความล่าช้า เสียโอกาสการแข่งขันด้านโทรคมนาคมกับนานาชาติ เอไอเอสบอกไม่เกี่ยวกัน และไม่ต้องกลัวลักไก่โอนลูกค้า 2G ไป 3G เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย ทรูแนะทำคู่ขนานกันไปทั้งการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G และการเจรจาแปรสัญญาสัมปทานให้เอกชนเป็นผู้เช่าโครงข่าย
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE)กล่าวในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างสรุปข้อสนเทศ(IM)การจัดสรรคลื่นความถี่ INT หรือ 3G & beyond ครั้งที่ 2 ว่า การผลักดันให้มีการออกใบอนุญาตให้บริการ 3G ทำให้เกิดแนวคิดแปรสัญญาสัมปทาน ซึ่งทรูฯ เห็นว่าควรจะดำเนินการคู่ขนานกันไปก็จะเป็นการดี แต่ไม่ควรจะรอการแปรสัญญาก่อน เพราะจะทำให้การประมูลล่าช้าออกไป
การแปรสัญญาสัมปทานทำได้ตามกฎหมาย พ.ร.บ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ระบุไว้ว่าถ้าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยินยอมก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ โดยอาจจะปรับเปลี่ยนมาให้เอกชนกลับไปเป็นผู้เช่าโครงข่าย และมีสิทธิขอรับใบอนุญาต 3G ซึ่งจุดนี้จะทำให้เป็นการเปิดเสรีอย่างเป็นธรรมและทำให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน ขณะที่ประชาชนก็จะมีทางเลือกมากขึ้น
"ผมคิดว่าเราควรจะเดินขนานกันไป เพราะในที่สุดแล้วยังไงก็ต้องหาทางออกกันได้ คิดว่าการแปรสัญญาสัมปทานกับ 3G ถ้าเร่งให้เกิดขึ้นเร็วได้ ก็เท่ากับเปิดเสรีให้เอกชนแข่งขันกัน กทช.ก็จะได้ประโยชน์"นายศุภชัย กล่าว
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) กล่าวในฐานะที่ SHIN เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC)ว่า ประเด็นที่มีความกังวลว่าหากเปิดให้ใบอนุญาต 3G แล้วผู้ให้บริการรายเดิมจะโอนลูกค้าจาก 2G ไป 3G ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย
การที่ลูกค้าจะย้ายไปใช้บริการ 3G หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกค้า แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ลูกค้าจะเลือกสิ่งที่ดีที่สมควรจะได้รับ นอกจากนั้น ในเชิงเทคนิคการโอนลูกค้าก็ไม่ได้ทำได้ง่ายเพราะต้องค่อย ๆ ทำ ประกอบกับโครงข่าย 3G ก็ต้องใช้เวลาในการลงทุน
"ลูกค้าไม่ใช่ตึกแถวหรือรถกระบะ ลูกค้ามีชีวิตจิตใจ การโอนลูกค้าไม่ว่าจะทำได้เลย แต่ขึ้นกับลูกค้าเองจะเป็นผู้ตัดสินใจเป็นผู้เลือก"นายสมประสงค์ กล่าว
ทั้งนี้ นายสมประสงค์ มองว่า กทช.ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมเพราะหลายฝ่ายจับตาดูอยู่ และการที่ประเทศจะมีการให้บริการ 3G ก็เป็นเรื่องที่สมควร เพราะขณะนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ทัดเทียมกับหลายประเทศที่ปัจจุบันมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกใช้ระบบ 3G ไปแล้ว ดังนั้น เราต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการนำ 3Gเข้ามาเพื่อการแข่งขันด้านกิจการโทรคมนาคม
อย่างไรก็ตาม มองว่าการแปรสัญญาสัมปทานไม่เกี่ยวข้องกับการให้ใบอนุญาต 3G
ขณะที่ นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ADVANC คาดหวังว่า กทช.จะสามารถเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 1/53 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแผนลงทุนของบริษัทในระยะ 3 ปีข้างหน้า(53-55)ก็จะใช้เงินประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าไม่เกิดการประมูลก็อาจจะใช้เงินลงทุนเพียง 20% ของวงเงินดังกล่าวเท่านั้น
ส่วนการแปรสัญญาสัมปทานนั้น บริษัทก็พร้อมจะพูดคุยอยู่แล้ว และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของคู่สัญญา ไม่เกี่ยวกับการประมูลใบอนุญาต 3G ในครั้งนี้
ด้านนายทอเร่ จอห์นเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (DTAC)กล่าวว่า DTAC มั่นใจว่าหากมีผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการ 3G ในประเทศไทยราว 3-4 รายก็จะช่วยเปิดโอกาสธุรกิจโมบายล์บรอดแบนด์ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และจะเป็นประโยชน์ให้กับประเทศ รัฐบาลเองก็จะได้มีรายได้จากการเปิดประมูล 3G
"ผมหวังว่าประเทศไทยจะไม่ล้มเหลวในการประมูล 3G และขอชื่นชมว่า กทช.ได้ทำดีมาแล้ว"นายทอเร่ กล่าว