นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. คาดว่า ผู้โดยสารระหว่างประเทศในปี 53 (สิ้นสุด ก.ย.) จะขยายตัวมากกว่า 10% กลับมาสู่ระดับใกล้เคียงปี 51 ที่มีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 38 ล้านคน จะทให้รายได้จาก PSC เพิ่มขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ 40% ของรายได้รวม นอกจากนี้ บริษัทก็ยังมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายต่อเนื่องจากปีก่อนที่ลดลงได้ 30 ล้านบาท แต่ปีนี้คงจะลดน้อยกว่าปีนี้
โดยในดือนต.ค. มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 11% และวันที่ 1-22 พ.ย.เติบโต 12% จากตัวเลขที่เติบโตต่อเนื่องเชื่อว่า แนวโน้มจำนวนผู้โดยสารจะดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และปัญหาการเมืองในประเทศไม่มีเหตุรุนแรง
"เที่ยวบินไม่ได้เพิ่ม แต่ Load factor เพิ่มขึ้น ก็มีความหวังว่าปี 53 จะมีผู้โดยสารกลับไปใกล้เคียงกับปี 51 แต่ไม่ดีเท่าปี 50 ที่มี่จำนวนผู้โดยสารถึง 41.9 ล้านคน" นายเสรีรัตน์ กล่าว
นายเสรีรัตน์ กล่าวว่า คณะกรรมการทอท.เห็นชอบให้ทอท.ศึกษาผลดีผลเสียของการใช้ระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน และลดการใช้ไฟฟ้าในระยะยาว โดยขั้นตอนหลังจากนี้ทอท.จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาและวางแผนการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก่อน คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นก็จะสามารถลงทุนดำเนินการก่อสร้างได้ทันที
ทั้งนี้ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีขนาด 6-7 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 700-800 ล้านบาท และจะคืนทุนภายใน 7 ปี ใช้พื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีพื้นว่างฝั่งตะวันออกที่จะนำมาใช้เพื่อติดตั้งแผงโซล่าร์เซล หรืออาจจะติดตั้งที่บริเวณลาดจอดรถระยะไกล โดยใช้แผงโซล่าร์เซลเป็นหลังคาที่จอดรถ ซึ่งจะได้ประโยชร์ร่วมกัน ส่วนเงินลงทุนนั้นทอท.และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะถือหุ้นร่วมกันในสัดส่วน 49% ที่เหลือ 51% จะเชิญชวนเอกชนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาร่วมทุน
"ประโยชน์ของการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ คือ มีรายได้จากการขายไฟฟ้า และนำไฟฟ้าที่ได้มาใช้ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลพื้นที่ว่างเปล่าและใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งจะช่วยให้ทอท.มีคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้น และในอนาคตสามารถนำคาร์บอนเครดิตมาขายให้กับสายการบินได้ด้วย" นายเสรีรัตน์ กล่าว
นอกจากนั้น ทอท.ยังได้กำหนดให้สายการบินที่ใช้พาหนะในบริเวณท่าอากาศยาน และรถที่ใช้ในลานจอดอากาศยาน เช่น รถชัทเทิลบัส รถขนกระเป๋าสัมภาระ ต้องใช้ระบบไฟฟ้าแทนน้ำมัน โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2553 เป็นต้นไป ซึ่งปัจจุบันสายการบินหลายแห่งได้เปลี่ยนยานพาหนะเป็นใช้ไฟฟ้าแล้ว ยกเว้นแต่สายการบินไทยที่จะเริ่มใช้ในเดือนธ.ค.นี้
นายเสรีรัตน์ ยังกล่าวอีกว่า คณะกรรมการทอท.ยังเห็นชอบในหลักการให้ ทอท.นำระบบ RADIO FREQUERNCY IDENTIFICATION (RFID) มาติดตั้งใช้งานร่วมกับระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แทนการใช้ระบบ BARCODE ซึ่งระบบใหม่นี้จะมีความแม่นยำถึง 99% ขณะที่ระบบเดิมที่จะมีความแม่นยำประมาณ 65% แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลำเลียงกระเป๋าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7-8 บาทต่อใบ จากเดิม 2 บาทต่อใบ
อย่างไรก็ตาม ทอท.ยังต้องศึกษารูปแบบและวิธีการลงทุนที่เหมาะสมก่อน รวมทั้งต้องนำเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าจะสามารถนำระบบดังกล่าวมาใช้งานได้ภายในปี 2555 ซึ่งก็จะสอดคล้องกับข้อกำหนดของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาตา ที่กำหนดให้ท่าอากาศยานนำระบบ RFID มาให้บริการกับผู้โดยสาร ส่วนเงินลงทุนนั้น คาดว่าจะใช้ประมาณ 100 ล้านบาท
สำหรับระบบ RFID จะทำให้สายการบินและผู้โดยสารได้รับความสะดวก เพราะการคัดแยกกระเป๋าสัมภาระมีประสิทธิภาพสูง ลดระยะเวลาการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ลดจำนวนกระเป๋าที่ล่าช้าและสูญหาย เพราะมีระบบติดตามกระเป๋าสัมภาระ ขณะที่ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการลำเลียงกระเป๋าสัมภาระทั้งขาเข้าและขาออกได้ด้วยตัวเอง
นอกจากนั้น คณะกรรมการได้อนุมัติให้ทอท.ทำสัญญาว่าจ้างองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอซีเอโอ วงเงิน 30 ล้านบาท เพื่อศึกษาทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ภายใต้แนวคิด SINGLE AIRPORT โดยจะใช้เวลาในการศึกษา 90 วัน ส่วนผลศึกษาที่ได้จะนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายการบริหารการขนส่งทางอากาศ รวมทั้งกำหนดทิศทางการบริหารจัดการท่าอากาศยานของทอท.ด้วย
"ที่ผ่านมาการศึกษาจะเน้นการใช้ประโยชน์ของท่าอากาศยานดอนเมือง แต่การศึกษาครั้งนี้จะขยายขอบเขตการศึกษาให้ครอบคลุมถึงความเหมาะสมในการบริหารท่าอากาศยาน ซึ่งหลักการจะมี 2 รูปแบบ คือ การบริหารท่าอากาศยานแบบ SINGLE AIRPORT หรือ MULTI AIRPORT" นายเสรีรัตน์ กล่าว