บมจ.ปตท.(PTT) ระบุว่ายินดีให้ความร่วมมือดำเนินการตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด โดยยอมรับว่าส่งผลกระทบ 25 โครงการ อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการบางส่วนที่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ในกลุ่ม 11 โครงการ รวมถึง ในส่วนโครงการที่ได้รับอนุญาตก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ 24 ส.ค.50 อาทิ โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 โครงการส่วนขยายโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิดความหนาแน่นสูง (BPEX) และโครงการโรงงานผลิตเอทานอลเอมีน ก็คาดว่าจะเดินหน้าต่อไปได้
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า โครงการในกลุ่ม ปตท. ที่สามารถดำเนินการในส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 , โครงการเชื้อเพลิงสะอาดและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ (EURO IV) ของ PTTAR ,
โครงการผลิตเชื้อเพลิงสะอาด ติดตั้งหน่วยควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงและเพิ่มไบโอดีเซล ของ SPRC , โครงการติดตั้งหน่วยควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงและเพิ่มไบโอดีเซล ของ PTTAR , โครงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดท่าเทียบเรือและคลังผลิตภัณฑ์ (LPG/Butene-1) ของ PTTCH, โครงการติดตั้ง Loading Arm เพิ่มเติมที่ท่าเทียบเรือของโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ของ SPRC และ โครงการปรับปรุงระบบหมุนเวียนก๊าซกลับคืนของโรงงานผลิต PP ของ HMC
เจ้าหน้าที่ของ PTT เปิดเผยว่า สำหรับ 3 โครงการที่ได้รับอนุญาตก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 บังคับใช้นั้น ฝ่ายกฎหมายของบริษัทจะตรวจสอบเพื่อยืนยันอีกครั้งว่าสามารถเดินหน้าได้ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในวันนี้
นายอรรถพล กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. พร้อมรับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ทำให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และนำมาซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมตามแนวรัฐธรรมนูญมาตรา 67 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความร่วมมือระดับพหุภาคีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและสังคมให้เติบโตคู่กันอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ยืนยันว่าจะดำเนินงานตามมาตรฐานและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเคร่งครัด แม้จะเป็นโครงการที่ไม่ได้ก่อให้เกิดมลพิษเพิ่มขึ้น รวมทั้งผ่านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีการศึกษาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) อยู่แล้ว
กลุ่ม ปตท. ก็จะเร่งดำเนินการจัดทำ HIA ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดเวทีกำหนดขอบเขตประเมินผลกระทบสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Scoping) และจัดเวทีทบทวนร่างรายงานการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Review) เชื่อว่าจากนี้ไปภาครัฐก็จะเร่งรัดมาตรการอื่นๆ ที่จะต้องดำเนินตามมาตรา 67 ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องการจัดตั้งองค์การอิสระ และข้อกำหนดเพิ่มเติมด้านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเกิดการพัฒนาและประชาชนได้รับการดูแลให้มีความสุขอย่างยั่งยืน