บทวิเคราะห์ของ บล.ธนชาต ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลกระทบจากกรณีมาบตาพุด จากการที่ความต้องการสินเชื่อลดลงในปีหน้า โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ซึ่งจะมีการเบิกเงินกู้เมื่อโครงการเริ่มดำเนินการ
แต่เนื่องจาก บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินการส่วนใหญ่เป็นบริษัทชั้นนำที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ บริษัทส่วนใหญ่ยังใช้เงินจากการออกหุ้นกู้เป็นแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างอีกด้วย
ธนาคารที่มีสัดส่วนลูกค้า corporate ในระดับสูงอย่าง KTB (50% ของพอร์ตสินเชื่อ), BBL (42%) และ SCB (35%) น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า ขณะที่ KBANK และ BAY ซึ่งให้สินเชื่อแก่ SME และรายย่อยในสัดส่วนที่สูง น่าจะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า
สำหรับ TISCO ซึ่งเน้นธุรกิจเช่าซื้อ จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้ และเนื่องจากยอดซื้อยานยนต์ที่ฟื้นตัว และการเข้าซื้อกิจการล่าสุด สินเชื่อของธนาคารก็น่าจะยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าธนาคารอื่นไปอีกในปีหน้า (เติบโต 9% เทียบกับสินเชื่อทั้งระบบที่หดตัว 3% ในช่วง 9M09) คงคำแนะนำ “ถือ"
เราอยู่ในช่วงทบทวนประมาณการ จึงยังไม่ให้คำแนะนำ และราคาเป้าหมายสำหรับธนาคารอื่นในขณะนี้
ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า นักวิเคราะห์ของ ASP ได้ทยอยสอบถามผลกระทบดังกล่าวจาก ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้รับการยืนยันจาก KBANK ว่าผลกระทบไม่มีนัยสำคัญ โดย KBANK ได้เคยสำรวจ และประเมินผลกระทบมาก่อนหน้านี้แล้ว
ขณะที่คาดว่า SCB ระบุว่าเป็นเจ้าหนี้หลักของ PTT และกลุ่ม SCG ผลกระทบจึงน่าจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เพราะทั้ง 2 บริษัทมีกระแสเงินสดสูงถึงปีละ 1 แสนล้านบาท และ 4 หมื่นล้านบาทตามลำดับ
อย่างไรก็ตามธนาคารพาณิชย์อื่นเช่น BBL, BAY, TMB, SCIB, KTB อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบ หากได้ข้อสรุปจะนำเสนอเป็นรายงานอีกครั้ง