หมวด 1000 การพิจารณาและชี้ขาดข้อพิพาท
ที่เกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ให้สมาชิกหรือลูกค้าที่จะยื่นคำร้องเพื่อขอให้มีการชี้ขาดข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการยื่นคำร้องตามแบบที่ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากำหนด
(*ความในหลักเกณฑ์ 1003.01 เดิมถูกยกเลิกและใช้ความใหม่นี้แทนโดยข้อบังคับบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 18 มกราคม 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2559 เป็นต้นไป)
ในการยื่นคำร้องผู้ร้องต้องวางเงินค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการไว้กับตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าพร้อมกับการยื่นคำร้อง
(1) เมื่อตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับคำร้องแล้วจะส่งสำเนาคำร้องและเอกสารประกอบไปยังคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ยื่นคำคัดค้านตามแบบที่ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากำหนด พร้อมกับแจ้งให้ทำหนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ
(2) เมื่อคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งได้รับสำเนาคำร้อง ให้ยื่นคำคัดค้านและข้อเรียกร้อง (ถ้ามี) ต่อตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าภายใน 15 วัน และต้องยื่นหนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการพร้อมกับหนังสือยินยอมเป็นอนุญาโตตุลาการมาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
(3) เมื่อตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับคำคัดค้านจากคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งตาม (2) แล้ว ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะส่งสำเนาคำคัดค้านและเอกสารประกอบให้แก่ผู้ร้องพร้อมกับแจ้งให้ทำหนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ
(4) เมื่อผู้ร้องได้รับแจ้งจากตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตาม (3) ให้ผู้ร้องยื่นหนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการและหนังสือยินยอมเป็นอนุญาโตตุลาการต่อตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าภายในเวลา 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
การยื่นคำคัดค้านหรือการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของคู่พิพาทต้องดำเนินการภายในเวลาที่ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากำหนด หากคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ดำเนินการภายในเวลาที่ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากำหนด ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอาจคืนคำร้องให้แก่ผู้ร้องและจำหน่ายเรื่องของคู่พิพาท
เพื่อประโยชน์ในการตีความข้อกำหนดนี้ การส่งคำคู่ความ หนังสือแจ้งความ หรือเอกสารอื่นใดให้ถือว่ามีผลสมบูรณ์เมื่อคู่พิพาทหรือผู้แทนของคู่พิพาทได้รับด้วยตนเอง หรือได้มีการส่งไปถึงภูมิลำเนา สถานที่ประกอบธุรกิจ หรือถิ่นที่อยู่หรือสถานที่ประกอบธุรกิจของผู้รับ
การส่งเอกสารใด ๆ ตามข้อกำหนดนี้ ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะทำการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือวิธีการอื่นตามที่เห็นสมควร
เมื่อได้มีการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการครบถ้วนแล้ว ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะเป็นผู้กำหนดเวลาและสถานที่ในการพิจารณาครั้งแรก และในการพิจารณาครั้งต่อไป คณะอนุญาโตตุลาการจะเป็นผู้กำหนดเวลาและสถานที่
ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินวิธีพิจารณาใด ๆ ตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงหลักแห่งความยุติธรรม และการให้คู่พิพาทมีโอกาสเสนอข้อเท็จจริงสนับสนุนข้ออ้างของตนมากที่สุด
คู่พิพาทอาจตั้งผู้แทนหรือบุคคลใดเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการ ก็ได้ให้คู่พิพาทแจ้งชื่อและที่อยู่ของผู้แทนหรือบุคคลซึ่งตนตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
การสืบพยานให้เป็นไปตามวิธีการต่อไปนี้ ยกเว้นคู่พิพาทได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
(1) ให้คู่พิพาทยื่นเสนอพยานเอกสารต่างๆเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนต่อคณะอนุญาโตตุลาการในวันพิจารณาครั้งแรกในกรณีที่เห็นสมควรคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจสั่งให้คู่กรณีส่งเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทให้ก็ได้
(2) การสืบพยานบุคคลให้กระทำโดยคณะอนุญาโตตุลาการให้อนุญาโตตุลาการบันทึกคำพยานโดยย่อเพื่ออ่านและให้พยานลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานแล้วเก็บรวมไว้ในสำนวน
คณะอนุญาโตตุลาการจะให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าช่วยบันทึกคำพยานก็ได้
คู่พิพาทฝ่ายใดกล่าวอ้างข้ออ้างใดมีหน้าที่นำสืบให้ประจักษ์ตามข้ออ้างของตน
คณะอนุญาโตตุลาการจะให้ผู้เชี่ยวชาญคนใดทำรายงานความเห็นเสนอก็ได้ กรณีเช่นนี้ให้คู่พิพาทแจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องตามที่ผู้เชี่ยวชาญสอบถาม
เมื่อได้รับรายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแล้ว ให้ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแจ้งให้คู่พิพาททราบรายละเอียดในรายงานความเห็นนั้น คู่พิพาทอาจยื่นคำร้องขอซักถามผู้เชี่ยวชาญได้หาก คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาอนุญาตให้นำวิธีการสืบพยานในหลักเกณฑ์ 1004.03 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
คณะอนุญาโตตุลาการอาจสั่งให้เลื่อนการพิจารณา เมื่อเห็นสมควรหรือคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอโดยมีเหตุผลอันสมควร
หากคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่มาตามกำหนดในวันพิจารณา คณะอนุญาโตตุลาการอาจจะสั่งให้ทำการพิจารณาและชี้ขาดไปฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องมีคู่พิพาทฝ่ายนั้นร่วมในการประชุมด้วยได้ตามที่เห็นสมควร
ทั้งนี้ การพิจารณาและชี้ขาดตามวรรคหนึ่งย่อมผูกพันคู่พิพาทฝ่ายที่ไม่มาตามกำหนดในวันพิจารณา
ก่อนการชี้ขาดข้อพิพาท คณะอนุญาโตตุลาการอาจจัดให้มีการพิจารณาเพิ่มเติมก็ได้ เมื่อเห็นสมควรหรือคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอ
(*ความในหลักเกณฑ์ 1004 เดิมถูกยกเลิกและใช้ความใหม่นี้แทนโดยข้อบังคับบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2558 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2559 เป็นต้นไป)
คำชี้ขาดให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยคำชี้ขาดต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคณะอนุญาโตตุลาการโดยระบุเหตุผลแห่งข้อวินิจฉัยโดยชัดแจ้ง และต้องจัดส่งสำเนาถึงคู่พิพาท
คำชี้ขาดต้องทำให้เสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคนสุดท้าย เว้นแต่คู่พิพาทจะตกลงเป็นอย่างอื่น
คณะอนุญาโตตุลาการจะชี้ขาดเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการที่คู่สัญญาได้ตกลงไว้ หรือข้อเรียกร้องของคู่พิพาทไม่ได้ ยกเว้นเป็นการชี้ขาดตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันระหว่างคู่พิพาท
คำชี้ขาดให้เป็นที่สุดและผูกพันคู่พิพาทเมื่อได้มีการส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้นถึงคู่พิพาทแล้ว คณะอนุญาโตตุลาการและตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะเปิดเผยคำชี้ขาดต่อสาธารณชนไม่ได้ ยกเว้นคู่พิพาทยินยอม
ถ้าในคำชี้ขาดมีข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการเห็นสมควรหรือคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอคณะอนุญาโตตุลาการอาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
ภายใน 15 วันนับแต่วันที่สำเนาคำชี้ขาดไปถึงคู่พิพาท เมื่อเกิดความสงสัยตามควรเกี่ยวกับข้อความในคำชี้ขาด คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการตีความข้อความนั้นได้ คำตีความนี้ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำชี้ขาดและต้องปฏิบัติไปทำนองเดียวกับการทำคำชี้ขาด
ภายใน 15 วันนับแต่วันที่สำเนาคำชี้ขาดไปถึงคู่พิพาท เมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่ามิได้ชี้ขาดในประเด็นสาระสำคัญ อาจร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาดเพิ่มเติมในประเด็นข้อนั้นได้
ในกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่าประเด็นข้อนั้นเป็นข้อสาระสำคัญและยังมิได้ชี้ขาดไว้ ให้ทำการชี้ขาดในประเด็นนั้นให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 30 วันนับแต่วันที่คู่พิพาทได้ยื่นคำร้องขอ
ถ้าคณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่าการทำคำชี้ขาดเพิ่มเติมนั้นไม่อาจกระทำได้ นอกจากจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติม อาจสั่งให้คู่พิพาทนำพยานหลักฐานมาสืบได้ อนึ่ง คณะอนุญาโตตุลาการจะต้องทำคำชี้ขาดเพิ่มเติมดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันที่คู่พิพาทได้ยื่นคำร้องขอ
(*ความในหลักเกณฑ์ 1005 เดิมถูกยกเลิกและใช้ความใหม่นี้แทนโดยข้อบังคับบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2558 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2559 เป็นต้นไป)
หากคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด มีความเห็นว่าก่อนถึงขั้นตอนการพิจารณาโดยคณะอนุญาโตตุลาการ เห็นสมควรให้มีการประนอมข้อพิพาทขึ้นก่อน ก็มีสิทธิกระทำไปโดยให้ดำเนินการดังนี้
(1) คู่พิพาทฝ่ายนั้นต้องมีหนังสือไปถึงคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยการประนอมข้อพิพาทก่อน
(2) กระบวนพิจารณาประนอมข้อพิพาทเริ่มขึ้น เมื่อคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งตอบรับให้มีการระงับข้อพิพาทโดยการประนอมข้อพิพาท คำตอบรับดังกล่าวให้ทำเป็นหนังสือ
(3) หากคู่พิพาทฝ่ายที่เสนอให้ประนอมข้อพิพาทมิได้รับคำตอบจากคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งภายใน 15 วันนับแต่วันที่คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้รับคำเสนอหรือภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำเสนอ ให้ถือว่าคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งนั้นปฏิเสธคำเสนอและให้ถือว่าคำเสนอประนอมข้อพิพาทเป็นอันตกไป
(*ความในหลักเกณฑ์ 1006.01 เดิมถูกยกเลิกและใช้ความใหม่นี้แทนโดยข้อบังคับบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2558 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2559 เป็นต้นไป)
ในระหว่างที่มีการประนอมข้อพิพาท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอาจระงับการดำเนินการตามข้อกำหนดนี้ไว้เป็นการชั่วคราว
กรณีมีการประนอมข้อพิพาท ให้คู่พิพาทร่วมกันตั้งผู้ประนอมข้อพิพาทจำนวน 1 คน
เมื่อแต่งตั้งผู้ประนอมข้อพิพาทแล้ว ให้คู่พิพาทเสนอข้อพิพาทของตนเป็นหนังสือต่อผู้ประนอมข้อพิพาทแสดงให้เห็นถึงลักษณะและประเด็นแห่งข้อพิพาท ในการนี้ให้ส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวแก่คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่ง
ผู้ประนอมข้อพิพาทมีสิทธิขอให้คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่เห็นสมควร
ในการประนอมข้อพิพาท ผู้ประนอมข้อพิพาทพึงใช้หลักความยุติธรรม โดยพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่พิพาท ประเพณีทางการค้าและพฤติการณ์อื่นซึ่งเกี่ยวข้อง รวมทั้งทางปฏิบัติต่อกันของคู่พิพาทที่ผ่านมา
หากเห็นว่าจำเป็นและคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอผู้ประนอมข้อพิพาทอาจให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นนำพยานบุคคลเข้าสืบ แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงหลักการที่ให้การประนอมข้อพิพาทเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว
เมื่อคู่พิพาทตกลงประนีประนอมในข้อพิพาท ให้ผู้ประนอมข้อพิพาทร่างสัญญาประนอมข้อพิพาทขึ้นและให้คู่พิพาทลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าว
กระบวนการประนอมข้อพิพาทสิ้นสุดลงเมื่อ
(1) คู่พิพาทได้ลงนามในสัญญาประนอมข้อพิพาท
(2) ผู้ประนอมข้อพิพาทเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะดำเนินการประนอมข้อพิพาทต่อไป
(3) คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเห็นสมควรให้ยุติการประนอมข้อพิพาทโดยมีหนังสือแจ้งไปยังคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว
คู่พิพาทจะไม่อ้างหรือนำพยานหลักฐานคำรับของคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งหรือข้อเสนอหรือความเห็นของผู้ประนอมข้อพิพาทไปเป็นพยานในกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการหรือศาลยุติธรรม
ให้คู่พิพาทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการประนอมข้อพิพาทโดยเท่าเทียมกัน เว้นแต่คู่พิพาทจะตกลงเป็นอย่างอื่น
ค่าป่วยการผู้ประนอมข้อพิพาทให้เป็นไปตามที่คู่พิพาทและผู้ประนอมข้อพิพาทกำหนด
อัตราค่าธรรมเนียมให้ผันแปรตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง โดยให้ใช้อัตรา 1% ของทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง แต่ไม่เกินกว่า 10,000 บาท
อัตราค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการให้ใช้อัตราผันแปรตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง ดังนี้
จำนวนทุนทรัพย์ อัตราค่าป่วยการ
ไม่เกิน 500,000 อัตรา 2.5% แต่ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท 500,001 - 1,000,000 อัตรา 2% แต่ไม่ต่ำกว่า 12,500 บาท 1,000,001 - 5,000,000 อัตรา 1.5% แต่ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท 5,000,001 - 10,000,000 อัตรา 1% แต่ไม่ต่ำกว่า 75,000 บาท
10,000,001 - 50,000,000 อัตรา 0.5% แต่ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท
มากกว่า 50 ล้าน อัตรา 250,000 บาท
การคำนวณ ถ้าคำนวณได้เป็นเศษให้ปัดเศษขึ้นจนเต็มจำนวน
ค่าธรรมเนียมตามหลักเกณฑ์ 1007.01 และค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการตามหลักเกณฑ์ 1007.02 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะคืนให้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
(1) กรณีตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคืนคำร้องให้ผู้ร้อง เนื่องจากผู้ร้องถอนคำร้องก่อนที่ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าส่งคำร้องให้คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่ง หรือคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมเข้าร่วมในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการหรือไม่ทำการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ ให้คืนค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการทั้งหมด
(2) กรณีตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคืนคำร้องให้ผู้ร้อง เนื่องจากผู้ร้องถอนคำร้องหลังจากที่ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าส่งคำร้องให้คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งแต่ก่อนที่จะมีการตั้งอนุญาโตตุลาการคนสุดท้าย หรือกรณีมีการประนอมข้อพิพาทจนสำเร็จ ให้คืนเฉพาะค่าป่วยการทั้งหมด
ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการหลักเกณฑ์ 1007.02 ให้จัดสรรแก่อนุญาโตตุลาการแต่ละคนโดยเท่าเทียมกัน
การนับระยะเวลาตามข้อกำหนดนี้ มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วย ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเป็นวันหยุด ให้ขยายระยะเวลาจนถึงวันที่เริ่มทำการใหม่
ผู้ร้องอาจขอถอนคำร้องได้โดยยื่นเป็นหนังสือต่อตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เว้นแต่การถอนคำร้องภายหลังจากที่คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งได้ยื่นคำคัดค้านแล้วต้องได้รับความยินยอมจากคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งนั้นก่อน
ในกรณีที่คู่พิพาทไม่ดำเนินการใด ๆ หรือไม่ติดต่อกับตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอาจจำหน่ายเรื่องของคู่พิพาทนั้น โดยตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะไม่คืนค่าธรรมเนียม ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ และค่าใช้จ่ายใดๆ ที่ได้วางไว้แก่ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแล้ว
ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอาจขยายระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์หมวดนี้เมื่อเห็นสมควร หรือคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอโดยมีเหตุผลอันสมควร
--บมจ. ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย)--