ข้อบังคับ
หมวด 200 คำนิยาม
201 คำนิยาม
“สินค้า” หมายความว่า หลักทรัพย์ ทองคำ น้ำมันดิบ หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้อ้างอิงในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามที่ตลาดอนุพันธ์กำหนด
“ตัวแปร” หมายความว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงิน อัตราดอกเบี้ย ดัชนีทางการเงิน ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์หรือตัวแปรอื่นใดตามที่ตลาดอนุพันธ์กำหนด
“สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งหรือหลายลักษณะตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ตลอดจนที่มีการแก้ไขเป็นคราว ๆ ไป และเป็นสัญญาที่ตลาดอนุพันธ์กำหนดขึ้นและจัดให้มีการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์
“สัญญาซื้อขายล่วงหน้าฟิวเจอร์ส” หมายความว่า สัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งส่งมอบสินค้าให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ชำระราคา ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต เป็นจำนวนและราคาตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือสัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้รับชำระเงินหรือต้องชำระเงินให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เท่ากับจำนวนเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในสัญญากับราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
*“สัญญาซื้อขายล่วงหน้าออปชั่น” หรือ “ออปชั่น” (Options) หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กำหนดให้สิทธิแก่ผู้ซื้อออปชั่นที่จะเรียกให้ผู้ขายออปชั่นปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนด โดยแบ่งเป็นคอลออปชั่น (Call Options ) และพุทออปชั่น (Put Options)
*“สัญญาซื้อขายล่วงหน้าฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับหุ้นสามัญ” (Single Stock Futures) หมายความว่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฟิวเจอร์สที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นหุ้นสามัญใดหุ้นสามัญหนึ่งที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
(*เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สัญญาซื้อขายล่วงหน้าฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับหุ้นสามัญ” โดยข้อบังคับบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551)
*“โกลด์ฟิวเจอร์ส” (Gold Futures) หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าฟิวเจอร์สที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นทองคำ
(*เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “โกลด์ฟิวเจอร์ส” โดยข้อบังคับบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551)
*“อินเด็กซ์ออปชั่น” (Index Options) หมายความว่า ออปชั่นที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นดัชนีทางการเงินหรือดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์
*“ผู้ซื้อออปชั่น” (Options Buyer/ Options Holder) หมายความว่า บุคคลที่มีฐานะซื้อในออปชั่น(Long Position) และมีสิทธิกับผู้ขายออปชั่นดังต่อไปนี้โดยต้องจ่ายเงินตามราคาซื้อขายออปชั่นเพื่อแลกกับสิทธินั้น
(1) ซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิง ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในออปชั่น หรือ
(2) ได้รับชำระเงินเท่ากับจำนวนเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในออปชั่นกับราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในออปชั่น
*“ผู้ขายออปชั่น” (Options Writer/ Options Seller) หมายความว่า บุคคลที่มีฐานะขายในออปชั่น(Short Position) และมีหน้าที่ต่อผู้ซื้อออปชั่นดังต่อไปนี้โดยได้รับเงินตามราคาซื้อขายออปชั่นเป็นการตอบแทน
(1) ซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิง ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในออปชั่น หรือ
(2) จ่ายชำระเงินเท่ากับจำนวนเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในออปชั่นกับราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในออปชั่น
*“ราคาซื้อขายออปชั่น” หรือ “พรีเมี่ยม” (Premium) หมายความว่า ราคาซื้อขายที่ผู้ซื้อออปชั่นตกลงกับผู้ขายออปชั่นเพื่อให้ผู้ซื้อออปชั่นได้รับสิทธิตามออปชั่นและผู้ขายออปชั่นทำหน้าที่ตามออปชั่น
*“ราคาใช้สิทธิ” (Strike Price/Exercise Price) หมายความว่า ราคาซึ่งผู้ซื้อออปชั่นสามารถใช้สิทธิซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแบบของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าออปชั่น
*“ราคาสำหรับการส่งมอบหรือใช้อ้างอิงเพื่อคำนวณส่วนต่างของราคาเพื่อใช้ในการชำระหนี้” (Settlement Price) หมายความว่า ราคาสำหรับการส่งมอบหรือใช้อ้างอิงเพื่อคำนวณส่วนต่างของราคาเพื่อใช้ในการชำระหนี้ประจำวัน (Daily Settlement Price) หรือราคาสำหรับการส่งมอบหรือใช้อ้างอิงเพื่อคำนวณส่วนต่างของราคาเพื่อใช้ในการชำระหนี้ในวันซื้อขายวันสุดท้าย (Final Settlement Price)
*“At-the-money” หมายความว่า ออปชั่นที่มีราคาใช้สิทธิเท่ากับราคาสำหรับการส่งมอบหรือใช้อ้างอิงเพื่อคำนวณส่วนต่างของราคาเพื่อใช้ในการชำระหนี้ (Settlement Price) หรือราคาใช้สิทธิเท่ากับราคาหรือระดับของสินค้าอ้างอิง ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
*“In-the-money” หมายความว่า ออปชั่นที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) คอลออปชั่นที่มีราคาใช้สิทธิต่ำกว่าราคาสำหรับการส่งมอบหรือใช้อ้างอิงเพื่อคำนวณส่วนต่างของราคาเพื่อใช้ในการชำระหนี้ (Settlement Price) หรือราคาใช้สิทธิต่ำกว่าราคาหรือระดับของสินค้าอ้างอิง ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
(2) พุทออปชั่นที่มีราคาใช้สิทธิสูงกว่าราคาสำหรับการส่งมอบหรือใช้อ้างอิงเพื่อคำนวณส่วนต่างของราคาเพื่อใช้ในการชำระหนี้ (Settlement Price) หรือราคาใช้สิทธิสูงกว่าราคาหรือระดับของสินค้าอ้างอิง ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
*“Out-of-the-money” หมายความว่า ออปชั่นที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) คอลออปชั่นที่มีราคาใช้สิทธิสูงกว่าราคาสำหรับการส่งมอบหรืออ้างอิงเพื่อคำนวณส่วนต่างของราคาเพื่อใช้ในการชำระหนี้ (Settlement Price) หรือราคาใช้สิทธิสูงกว่าราคาหรือระดับของสินค้า อ้างอิง ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
(2) พุทออปชั่นที่มีราคาใช้สิทธิต่ำกว่าราคาสำหรับการส่งมอบหรืออ้างอิงเพื่อคำนวณส่วนต่างของราคาเพื่อใช้ในการชำระหนี้ (Settlement Price) หรือราคาใช้สิทธิต่ำกว่าราคาหรือระดับของสินค้า อ้างอิง ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
*“Options Series” หมายความว่า ออปชั่นซึ่งมีสินค้าอ้างอิง ประเภทของออปชั่นและเดือนที่ส่งมอบหรือชำระราคาเดียวกัน และมีราคาใช้สิทธิเท่ากัน
*“ฐานะคงค้าง” (Open Interest) หมายความว่า ฐานะในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ยังไม่มีการใช้สิทธิหรือยังไม่ถึงระยะเวลาที่ส่งมอบหรือชำระราคา
(*เพิ่มเติมคำนิยามโดยข้อบังคับบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 16 กรกฎาคม 2550)
“แบบของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า แบบและข้อความของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ตลาดอนุพันธ์จัดให้มีการซื้อขาย
“สินค้าอ้างอิง” หมายความว่า สินค้าหรือตัวแปรที่ใช้อ้างอิงในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“ตัวคูณดัชนี” หมายความว่า มูลค่าที่ใช้คูณสินค้าอ้างอิงที่เป็นดัชนีเพื่อหามูลค่าของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“ช่วงราคาซื้อขายขั้นต่ำ (Minimum Tick Size)” หมายความว่า ช่วงความแตกต่างของระดับราคาขั้นต่ำในการเสนอซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในแต่ละครั้ง
“การเปลี่ยนแปลงราคาซื้อขายสูงสุดในแต่ละวัน (Daily Price Limit)” หมายความว่า ช่วงราคาในการเสนอซื้อขายในแต่ละวันที่สามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นสูงสุดหรือลดลงต่ำสุดตามที่ตลาดอนุพันธ์กำหนด
*“หลักทรัพย์จดทะเบียน” หมายความว่า หลักทรัพย์ที่ได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับการอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์
*“การทำรายการที่มีผลกระทบต่อหุ้นอ้างอิง” (Corporate Action) หมายความว่า การดำเนินการใดๆ โดยบริษัทจดทะเบียนที่ออกหุ้นสามัญที่เป็นสินค้าอ้างอิงซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว หรือการจ่ายคืนหรือชดเชยสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากหุ้นสามัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) การเปลี่ยนแปลงทุน การควบรวมกิจการ การจ่ายเงินปันผลในรูปของเงินหรือหลักทรัพย์หรือการดำเนินการอื่นใดในลักษณะเดียวกัน(เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “หลักทรัพย์จดทะเบียน” และ “การทำรายการที่มีผลกระทบต่อหุ้นอ้างอิง”โดยข้อบังคับบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551)
“ระบบการซื้อขาย” หมายความว่า ระบบคอมพิวเตอร์ที่ตลาดอนุพันธ์จัดให้มีขึ้นเพื่อใช้ในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“หน่วยการซื้อขาย” หมายความว่า จำนวนของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“คำสั่งซื้อขาย” หมายความว่า คำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์
“การเสนอซื้อขาย” หมายความว่า การเสนอซื้อหรือการเสนอขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์
“การซื้อขาย” หมายความว่า การซื้อหรือขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์
“รายการซื้อขาย” หมายความว่า การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์ที่เกิดขึ้นแล้ว
“หลักประกัน” หมายความว่า หลักประกันตามข้อกำหนดของสำนักหักบัญชี
“ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า การปลดภาระหรือสิทธิตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีอยู่เดิมให้หมดไป โดยการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขึ้นใหม่ที่มีผลในทางตรงกันข้าม หรือ โดยวิธีการอื่นใดตามข้อกำหนดของสำนักหักบัญชี
“คณะกรรมการก.ล.ต.” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
*“คณะกรรมการกำกับตลาดทุน” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “คณะกรรมการกำกับตลาดทุน”โดยข้อบังคับบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551)
“สำนักงาน ก.ล.ต.” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
“ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“บริษัทในเครือ” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์และบริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนชำระแล้ว
“ตลาดอนุพันธ์” หมายความว่า บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
“สำนักหักบัญชี” หมายความว่า บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด
*“บริษัทจดทะเบียน” หมายความว่า บริษัทจดทะเบียนที่มีหุ้นสามัญจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “บริษัทจดทะเบียน”โดยข้อบังคับบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551)
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการตลาดอนุพันธ์
“ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการตลาดอนุพันธ์
“คณะอนุกรรมการวินัย” หมายความว่า คณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่พิจารณาความผิดของบุคคลที่ฝ่าฝืนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการฝ่าฝืนข้อกำหนดของตลาดอนุพันธ์ และลงโทษบุคคลดังกล่าว
“คณะกรรมการอุทธรณ์” หมายความว่า คณะกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ
“เลขานุการวินัย” หมายความว่า เลขานุการของคณะอนุกรรมการวินัย
“เลขานุการอุทธรณ์” หมายความว่า เลขานุการของคณะกรรมการอุทธรณ์
“ผู้สมัคร” หมายความว่า ผู้สมัครที่ยื่นคำขอเป็นสมาชิกของตลาดอนุพันธ์
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกของตลาดอนุพันธ์
*“ตัวแทนสนับสนุนการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” (Selling Agent) หมายความว่า ผู้ให้บริการตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วย หลักเกณฑ์สำหรับ ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในการใช้บริการด้านผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวกับทองคำ
(*เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ตัวแทนสนับสนุนการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” (Selling Agent) โดยข้อบังคับบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 20มกราคม 2552 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552)
“ลูกค้า” หมายความว่า บุคคลผู้ซึ่งสมาชิกทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือนายหน้าในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์
“ผู้รับประโยชน์จากการซื้อขายสัญญา” หมายความว่า
(1) ผู้รับประโยชน์หรือร่วมรับประโยชน์จากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(2) ผู้มีอำนาจควบคุมการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ
(3) ผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหรือการชำระหนี้ที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งนี้ ไม่ว่าการรับประโยชน์ การควบคุม หรือการสนับสนุนทางการเงินจะเกิดขึ้นจากข้อตกลง ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ด้านใดด้านหนึ่งหรือโดยประการอื่น
“ผู้ที่เกี่ยวข้อง” หมายถึง บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับสมาชิกหรือลูกค้า ดังต่อไปนี้
(1) คู่สมรส
(2) บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(3) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่สมาชิกหรือลูกค้า หรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) เป็นหุ้นส่วน
(4) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่สมาชิกหรือลูกค้า หรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หรือเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดที่มีหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 30 ของหุ้นทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัด
(5) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่สมาชิกหรือลูกค้า หรือบุคคลตาม (1) หรือ (2)หรือห้างหุ้นส่วนตาม (3) หรือ (4) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 30 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
(6) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่สมาชิกหรือลูกค้า หรือบุคคลตาม (1) หรือ (2)หรือห้างหุ้นส่วนตาม (3) หรือ (4) หรือบริษัทตาม (5) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 30 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น หรือ
(7) นิติบุคคลที่สมาชิกหรือลูกค้าสามารถมีอำนาจในการจัดการในฐานะเป็นผู้แทนของนิติบุคคล
“ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน” หมายความว่า ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ติดต่อ ชักชวน หรือให้คำแนะนำ เกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแก่ผู้ลงทุน
“เจ้าหน้าที่รับอนุญาต” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยตลาดอนุพันธ์เพื่อเป็นตัวแทนของสมาชิกในการซื้อขายด้วยระบบการซื้อขาย
“ผู้ดูแลสภาพคล่อง” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องเพื่อดำเนินการให้การซื้อขายในตลาดอนุพันธ์มีสภาพคล่อง
*“เจ้าหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยตลาดอนุพันธ์เพื่อเป็นตัวแทนของผู้ดูแลสภาพคล่องในการซื้อขายด้วยระบบการซื้อขาย
(*เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง” โดยข้อบังคับบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 28 สิงหาคม 2549)
“อนุญาโตตุลาการ” หมายความว่า อนุญาโตตุลาการที่ตลาดอนุพันธ์จัดให้มีขึ้น
“ผู้ร้อง” หมายความว่า คู่พิพาทฝ่ายที่ยื่นคำร้องเพื่อขอให้มีการชี้ขาดข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
“เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันอาจเกิดขึ้นและเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ว่าจะได้มีการใช้ความระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้ในฐานะและภาวะเช่นนั้นแล้ว
“คำสั่งลงโทษ” หมายความว่า คำสั่งของคณะกรรมการ คำสั่งของผู้จัดการ และคำสั่งของอนุกรรมการที่คณะกรรมการแต่งตั้ง ที่มีผลเป็นการลงโทษบุคคลอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนข้อกำหนดของตลาดอนุพันธ์
--บมจ.ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย)--