การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2553-2554

ข่าวทั่วไป Wednesday November 3, 2010 07:16 —กรมอุตุนิยมวิทยา

การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2553-2554

การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยประมาณกลางเดือนตุลาคม 2553 ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2554

ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวประมาณกลางเดือนตุลาคม 2553 สำหรับในปีนี้ คาดว่าจะมีอากาศหนาวกว่าปีที่แล้ว และอุณหภูมิจะต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อย โดยช่วงที่มีอากาศหนาวมากที่สุดส่วนมากอยู่ในช่วงประมาณ ปลายเดือนธันวาคม 2553 ถึงมกราคม 2554อนึ่ง ในช่วงฤดูหนาวปีนี้ คาดว่าในระยะต้นฤดู (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2553) ประเทศไทยตอนบนจะยังคงมีฝนตกชุกในบางพื้นที่ สำหรับภาคใต้จะมีอากาศเย็นในบางวันส่วนมากทางตอนบนของภาค โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป

ลักษณะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยตอนบน บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุม ประเทศไทยตอนบนเป็นระยะ ๆ ซึ่งในระยะแรกที่บริเวณความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมจะทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มมีอากาศหนาวเย็นก่อนภาคอื่น ๆ สำหรับภาคกลางและภาคตะวันออกจะเริ่มมีอากาศหนาวเย็นลงอย่างชัดเจนประมาณ เดือนพฤศจิกายน

สำหรับ เดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูหนาว บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนบ่อยครั้งและต่อเนื่องมากขึ้น ทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดโดยเฉพาะทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูจะมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้ จนถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศอุ่นขึ้น แต่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้าต่อไปอีกจนถึงเดือนมีนาคม ฤดูหนาวปีนี้จะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ภาคใต้ ในช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ จะเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือโดยจะพัดเอาความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ และจะมีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ประกอบกับร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคใต้ตอนกลางในเดือนพฤศจิกายน และจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างในเดือนธันวาคม ซึ่งจะทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย จนถึงประมาณเดือนมกราคม 2554 เป็นต้นไป

ปริมาณฝนในภาคใต้จะเริ่มลดลง และเป็นการสิ้นสุดฤดูฝนของภาคใต้

จากการเฝ้าติดตาม ปรากฏการณ์เอลนีโญ / ลานีญา พบว่า สถานการณ์อุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบ่งบอกถึงการพัฒนาของปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2554 ทำให้ตลอดช่วงฤดูหนาวปีนี้ ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้

รายละเอียดตามภาคต่างๆ

ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป จะเริ่มมีอากาศหนาวเย็นโดยเฉพาะทางตอนบนของภาคและมีหมอกในตอนเช้ากับมีฝนเป็นแห่งๆ เดือนธันวาคมและมกราคมจะมีอากาศหนาวเย็น และหนาวจัดบางพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ตาก เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนครและนครพนม โดยบางวันจะมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภูจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและอาจเกิดน้ำค้างแข็งขึ้นได้ในบางช่วง และอากาศจะเริ่มอุ่นขึ้นในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป

ภาคกลางและภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และในเดือนพฤศจิกายนจะเริ่มมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า เดือนธันวาคมและมกราคมจะมีอากาศหนาวเย็น กับมีหมอกหนาหลายพื้นที่ในบางวัน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณเทือกเขาของจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท กาญจนบุรี ลพบุรีและสระบุรี และอากาศจะเริ่มอุ่นขึ้นทำให้มีอากาศร้อนในตอนกลางวันประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก (ฝั่งอ่าวไทย) ประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม จะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นโดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ อาจเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ รวมทั้งคลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรง จากนั้นปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง กับจะมีอากาศเย็นในตอนเช้าในหลายพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคจะยังคงมีฝนตกหนักได้เป็นบางวัน

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ฝั่งทะเลอันดามัน) ประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนจะยังคงมีฝนตกชุก รวมทั้งคลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีกำลังค่อนข้างแรง จากนั้นปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง และในบางพื้นที่จะมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และในเดือนพฤศจิกายนจะเริ่มมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า สำหรับในบางช่วงของเดือนธันวาคมและเดือนมกราคมจะมีอากาศหนาวในบางวัน และประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ อากาศจะเริ่มอุ่นขึ้นทำให้มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน

ข้อควรระวัง

1. ในช่วงต้นฤดูหนาว (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ) ประเทศไทยตอนบนจะยังคงมีฝนตกชุกต่อเนื่อง อาจเกิดน้ำท่วมได้ในบางพื้นที่

2 ในช่วงที่บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย และมรสุม ตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย จะทำให้ภาคใต้ ฝั่งตะวันออกมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่และคลื่นลมในทะเลจะมีกำลังแรง ขอให้ติดตามข่าวอากาศประจำวันจากกรม อุตุนิยมวิทยาต่อไปด้วย

3. เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม อาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ตอนล่าง และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน (พายุดีเปรสชัน พายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่น) และมีโอกาสเคลื่อนผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ภาคใต้มีฝนตกเป็นบริเวณกว้างกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรงและมีคลื่นจัดเป็นครั้งคราว ความสูงของคลื่น 2 — 4 เมตร และอาจเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งตามบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของภาคใต้ได้ จึงควรติดตามข่าวพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

4. เดือนธันวาคมและมกราคมอาจเกิดน้ำค้างแข็งขึ้นได้ตามบริเวณยอดดอยหรือยอดภู และมักมีหมอกหนาเกิดขึ้นในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ยวดยานพาหนะไว้ด้วย

หมายเหตุ

  • เกณฑ์อุณหภูมิต่ำสุดในช่วงฤดูหนาว

อากาศเย็น หมายถึง 16.0 - 22.9ซ.

อากาศหนาว “ 8.0 - 15.9ซ.

อากาศหนาวจัด “ ต่ำกว่า 8.0ซ.

  • การคาดหมายนี้เป็นการคาดระยะนาน โดยใช้วิธีทางสถิติ และวิเคราะห์จากแบบจำลองภูมิอากาศ
  • การคาดหมายนี้จะมีการปรับปรุงใหม่ทุกปลายเดือน
  • สอบถามข่าวพยากรณ์อากาศรายเดือน รายฤดู ได้ที่โทร. 02-3989929 โทร / โทรสาร 02-3838827

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ