ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 09 มีนาคม 2554 - 15 มีนาคม 2554
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 9-12 มี.ค. อากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 มี.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนผู้ที่ เลี้ยงสัตว์ควรสำรวจโรงเรือนเลี้ยงสัตว์หากพบชำรุดควรรีบซ่อมแซม เพื่อป้องกันความเสียหายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลูกเห็บ เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 9-13 มี.ค. อากาศร้อนและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 14-15 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรซ่อมแซมอาคารและโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้แข็งแรงเพื่อป้องกันความเสียหายเมื่อมีลมกระโชกแรง สำหรับผักและพืชไร่ควรได้รับน้ำเพิ่มเติมให้เหมาะกับระยะการเจริญเติบโตของพืช รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยชนิดต่างๆ
ภาคกลาง
อากาศร้อนและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง ในช่วงวันที่ 9-10 มี.ค. และวันที่ 13-15 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ กับมี ลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดกับอาคารบ้านเรือนและโรงเรือนเลี้ยงสัตว์จากสภาวะฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ส่วนชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดชนิดต่างๆ ในข้าวนาปีที่อยู่ในระยะแตกกอ ซึ่งจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต และแห้งตาย
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 9-13 มี.ค. ทางตอนบนของภาค มีอากาศร้อนและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง ในช่วงวันที่ 14-15 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรผูกยึดกิ่งและค้ำยันลำต้นของไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการหักโค่นเมื่อมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ระยะนี้แม้มีฝนตกแต่ส่วนใหญ่ปริมาณฝนมีน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผลจำเป็นต้องได้รับน้ำเพิ่มเติม
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 9-11 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ในช่วงวันที่ 12-15 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส เนื่องจากระยะนี้มีฝนน้อยสภาพอากาศแห้งโดยเฉพาะบริเวณตอนบนของภาค ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวป้องกันไฟรอบบริเวณสวน ส่วนผู้ที่ปลูกพืชไร่และผักควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยชนิดต่างๆ ที่มักระบาดในสภาพอากาศเช่นนี้
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74