พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 15 เมษายน 2554 - 21 เมษายน 2554

ข่าวทั่วไป Monday April 18, 2011 06:23 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 15 เมษายน 2554 - 21 เมษายน 2554

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 15-18 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 19-21 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย กับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ส่วนมากทางด้านตะวันออกของภาค เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในระยะนี้อาจทำให้สัตว์เจ็บป่วยได้ง่าย เกษตรกรควรหมั่นสังเกตหากพบสัตว์เลี้ยงที่ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่ม และทำการรักษา รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ป่วยโดยตรง หากมีความจำเป็นต้องสัมผัสควรสวมถุงมือทุกครั้ง ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผลชาวสวนควรเก็บกวาดผลที่เน่าเสียร่วงหล่น ไปกำจัดให้ถูกวิธี โดยเผาหรือฝังให้ลึก เพื่อตัดวงจรของโรคและศัตรูพืช

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 15-17 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 18-21 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย กับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ ระยะนี้บางพื้นที่สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยดับไฟให้สนิททุกครั้งหลังจุดไฟใช้งานเสร็จแล้ว สำหรับชาวสวนยางพาราควรทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก และกำจัดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ติดไฟง่ายในบริเวณสวนให้หมดเพื่อไม่ให้เป็นเชื้อไฟ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยงและปริมาณน้ำให้สมดุล หากขาดความสมดุลจะทำให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 15-18 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 19-21 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายกับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ส่วนมากทางด้านตะวันออกของภาค ฝนที่ตกในระยะนี้ จะช่วยลดการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดลงไปได้บ้าง แต่สำหรับบางพื้นที่ปริมาณฝนที่ตกมีน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม เพราะหากพืชได้รับน้ำน้อยจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชรุ่นใหม่ควรเตรียมดินให้พร้อม รอให้ฝนตกสม่ำเสมอหรือความชื้นในดินเพียงพอแล้วค่อยลงมือปลูก

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 15-17 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ของพื้นที่ส่วนมากตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 18-21 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย กับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ สำหรับไม้ผลที่เจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนเจาะผลในทุเรียน ซึ่งจะทำให้ผลผลิตเสียหาย ดังนั้นหากพบผลที่ร่วงหล่น ควรนำไปกำจัดให้ถูกวิธี ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ในสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 15-18 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 19-21 เม.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองกระจาย กับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ สำหรับพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดหลังน้ำลด เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และโรคตาแดง รวมทั้งควรรีบพื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม และหลีกเลี่ยงการนำเครื่องยนต์ขนาดหนักเข้าทำงานในพื้นที่การเกษตรที่ระดับน้ำเพิ่งลด เพราะสภาพดินยังนิ่มอยู่อาจทำให้รถติดหล่มได้ง่าย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส สำหรับพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดหลังน้ำลด เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และโรคตาแดง รวมทั้งควรรีบพื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม และหลีกเลี่ยงการนำเครื่องยนต์ขนาดหนักเข้าทำงานในพื้นที่การเกษตรที่ระดับน้ำเพิ่งลด เพราะสภาพดินยังนิ่มอยู่อาจทำให้รถติดหล่มได้ง่าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ