พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 02 พฤศจิกายน 2554 - 08 พฤศจิกายน 2554

ข่าวทั่วไป Thursday November 3, 2011 06:19 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 02 พฤศจิกายน 2554 - 08 พฤศจิกายน 2554

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 2-4 พ.ย. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางด้านตะวันออกของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศา สูงสุด 30-34 องศาสำหรับบริเวณยอดดอย อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-13 องศา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-75% - เกษตรกรควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวังขณะสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา - ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย - สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชหลังฤดูฝน ควรปลูกในช่วงที่สภาพดินยังคงมีความชื้นอยู่ แต่ควรเลือกปลูกพืช ที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะลดลง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศา อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศา สำหรับบริเวณยอดภู อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศา ในช่วงวันที่ 2-4 พ.ย. มีฝนบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 พ.ย.มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากทางด้านตะวันออกของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-80% - พื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานเกษตรกรควรกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้สำหรับการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง - ในช่วงวันที่ 5 — 8 พ.ย. จะมีฝนทางด้านตะวันออกของภาค เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตรซึ่งตากไว้กลางแจ้ง - สำหรับข้าวนาปีที่อยู่ในระยะออกรวง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้พืชเสียหายผลผลิตลดลง

ภาคกลาง

อากาศเย็นทางตอนบนของภาค กับมีหมอกบางในตอนเช้า ในช่วงวันที่ 2-5 พ.ย. มีเมฆบางส่วน กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 6-8 พ.ย.มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางด้านตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75% - สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ ชื้นแฉะ เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และหากพบตัวที่ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่มแล้วรีบรักษา เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดไปยังตัวอื่นๆ - ส่วนพื้นที่ซึ่งยังคงมีน้ำท่วม เกษตรกรควรระวังโรค ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคตาแดง และน้ำกัดเท้า รวมทั้งระวังสัตว์มีพิษที่มากับน้ำด้วย - สำหรับทางตอนล่างของภาค บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือลุ่มน้ำท่าจีน เกษตรกรควรอพยพสัตว์เลี้ยง และเก็บข้าวของไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง รวมทั้งเตรียมอาหารและน้ำดื่มเอาไว้ให้พร้อม

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 2-4 พ.ย. มีเมฆบางส่วนกับมีฝนบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 พ.ย.มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-75 % - พื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานเกษตรกรควรกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้สำหรับการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง - ส่วนชาวสวนผลไม้ควรกำจัดวัชพืชภายในสวนให้โล่งเตียน เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหลบซ่อนของศัตรูพืช รวมทั้งตัดแต่งกิ่งและให้ปุ๋ยบำรุง เพื่อให้ต้นพักตัวเตรียมแตกตาดอกในระยะต่อไป

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 2-4 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ส่วนมากตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป อุณหภูมิต่ำสุด 23-27องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90% ระยะนี้ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีปริมาณฝนมากกว่า ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับบริเวณที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรขุดลอกคูคลอง และทำทางระบายน้ำ ออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในบริเวณแปลงปลูกพืช ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 2-4 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85% - สำหรับทางฝั่งตะวันตก มีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยดูแลสวน ให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อลดความชื้นภายในสวน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ