พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 11 พฤศจิกายน 2554 - 17 พฤศจิกายน 2554

ข่าวทั่วไป Monday November 14, 2011 06:43 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 11 พฤศจิกายน 2554 - 17 พฤศจิกายน 2554

ภาคเหนือ

  • ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส ทางตอนบนของภาคอากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 13-17 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่าง อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอย อากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 พ.ย. มีฝนเล็กน้อยบางแห่งถึงเป็นแห่งๆความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%
  • ในช่วงที่อุณหภูมิลดลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพ ให้แข็งแรง โดยให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ รวมทั้งควรระวังโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ และทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยง ไม่ควรปล่อยให้ลมโกรก โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กจะอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่ายกว่าสัตว์ที่โต
  • เนื่องจากระยะนี้สภาพอากาศเย็นและแห้ง ผู้ที่ปลูกไม้ดอกและผักชนิดต่างๆควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

-ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภู อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 พ.ย. มีฝนเล็กน้อยบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

  • สำหรับช่วงที่อุณหภูมิลดลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหากร่างกายปรับตัวไม่ทัน
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน เลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับผลผลิตการเกษตรที่เก็บเกี่ยวแล้วเกษตรกรไม่ควรตากทิ้งไว้ในช่วงวันที่ 15-17 พ.ย. เพราะจะเสียหายเนื่องจากฝนที่ตกได้

ภาคกลาง

-ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยในช่วงวันที่ 15-17 พ.ย. มีฝนเล็กน้อยบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

  • สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้เจ็บป่วย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรหลีกเลี่ยงการปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะจะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • อนึ่ง บริเวณที่ไม่มีน้ำท่วมแล้ว เกษตรกรควรรีบฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรให้ใช้การได้ดังเดิม

ภาคตะวันออก

-อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ย. มีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 พ.ย. มีฝนเป็นแห่งๆ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะต่อไปปริมาณฝนจะน้อย เกษตรกรควรวางแผนการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง
  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรเตรียมป้องกันความเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิลดลง ซึ่งจะทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

  • ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรขึ้นมา อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ส่วนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 12-16 พ.ย. ลมตะวันออก เฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85%
  • ระยะนี้ภาคใต้ยังคงมีฝนหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

-สำหรับไม้ผลทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งอยู่ในระยะแตกใบอ่อน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นทรุดโทรม

  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 12-16 พ.ย. ชาวประมงบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรระวังอันตรายในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

  • ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ตลอดช่วงอุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85%
  • ส่วนทางฝั่งตะวันตก ชาวสาวยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ