พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 07 ธันวาคม 2554 - 13 ธันวาคม 2554

ข่าวทั่วไป Thursday December 8, 2011 06:58 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 07 ธันวาคม 2554 - 13 ธันวาคม 2554

ภาคเหนือ

-ในช่วงวันที่ 7-8 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอย มีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-11องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 9-13 ธ.ค. มีฝนเล็กน้อยบางแห่งในระยะแรก และอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียสเซลเซียส ทางตอนบนอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 13-16 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอย มีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 4-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

-สำหรับบริเวณยอดดอยในช่วงที่สภาพอากาศหนาวจัด อาจมีน้ำค้างแข็ง เกิดขึ้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร

-เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ ชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช จำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ต้น ทรุดโทรม ส่งผลต่อการผลิดอกออกผลของพืช

-ระยะนี้ในบางพื้นที่อาจมีหมอกและน้ำค้าง เกิดขึ้นได้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคราน้ำค้างในพืชไร่ ไม้ดอก และพืชผัก หากพบควรรีบควบคุมโรค เพื่อไม่ให้ระบาดเป็นบริเวณกว้าง

-ในช่วงที่อากาศหนาวผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหาร เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

-ในช่วงวันที่ 8-11 ธ.ค. มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง และอุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง ทางตอนบนอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 13-16 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-19 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภู มีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 6-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 12-13 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 15-20 องศาเซลเซียส กับมีฝนบางแห่ง สำหรับบริเวณ ยอดภูจะมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

-ระยะนี้มีแดดจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ หากมีความจำเป็นควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดและดื่มน้ำบ่อยๆ

-เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งประกอบกับบางช่วงมีลมแรงทำให้น้ำบริเวณผิวดินระเหยได้มาก เกษตรกรจึงควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบไม้ หรือหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชื้นในดิน

-ในช่วงที่อากาศเย็น เกษตรกรที่จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยง หากใช้งานเสร็จแล้วควรดับให้สนิททุกครั้งเพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย

-สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปีควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะมีน้อย

ภาคกลาง

-ในช่วงวันที่ 7-8 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 9-13 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-19 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

-ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

-สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เนื่องจากระยะต่อไป จะมีฝนน้อย

-พื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบพื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม ส่วนพื้นที่ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส และย่ำน้ำที่สกปรกหากมีความจำเป็นควรสวมถุงมือและรองเท้าบูตเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู

ภาคตะวันออก

-ในช่วงวันที่ 7-8 ธ.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 9-13 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-19 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

-สำหรับระยะต่อไปปริมาณฝนจะมีน้อย เกษตรกร ควรวางแผนการจัดการน้ำทางด้านการเกษตร ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง

-เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ ชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่นเพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นทรุดโทรม หากพบควรรีบกำจัด

-ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

  • ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 7-8 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ส่วนมากบริเวณตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 9-13 ธ.ค. ตั้งแต่จังหวัดชุมพรขึ้นมา มีฝนเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ตั้งแต่จังหวัด สุราษฎร์ธานีลงไป มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

-ในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ เสี่ยงภัย ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีประวัติน้ำท่วม ควรระวังอันตราย และป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

-สำหรับผู้ที่ปลูกพืชสวนควรดูแลสภาพสวนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันความชื้นสะสมในพื้นที่เพาะปลูก ที่จะเป็นสาเหตุของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง

-สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะแตกใบอ่อน และติดผลอ่อน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนทำให้ต้นทรุดโทรม

-อนึ่ง ในช่วงวันที่ 8-12 ธ.ค. คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงโดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะคลื่นซัดฝั่ง สำหรับผู้ที่ทำประมงชายฝั่งควรระวังและป้องกัน ความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และ เรือเล็กควรงด ออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

-ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 7-8 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 9-13 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณตอนล่างของภาค ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

-ในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ เสี่ยงภัย ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีประวัติน้ำท่วม ควรระวังอันตราย และป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

-สำหรับผู้ที่ปลูกพืชสวนควรดูแลสภาพสวนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันความชื้นสะสมในพื้นที่เพาะปลูก ที่จะเป็นสาเหตุของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง

-สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะแตกใบอ่อน และติดผลอ่อน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนทำให้ต้นทรุดโทรม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ