พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 04 มกราคม 2555 - 10 มกราคม 2555

ข่าวทั่วไป Thursday January 5, 2012 07:05 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 04 มกราคม 2555 - 10 มกราคม 2555

ภาคเหนือ

  • ในวันที่ 4-8 ม.ค. มีหมอกในตอนเช้า ตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 3-9 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 9-10 ม.ค. มีฝนเล็กน้อยบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ในระยะแรก ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอย มีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%
  • ระยะนี้อากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และโรคผิวหนัง
  • สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด เกษตรกรควรคลุมบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุสีเข้มเพื่อรักษาอุณหภูมิดิน ส่วนในบางพื้นที่อาจมีน้ำค้างแข็ง เกษตรกรควรระวังป้องกันความเสียหายที่เกิดกับพืชผลทางการเกษตร
  • ส่วนผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายเนื่องจากหมอกและน้ำค้าง
  • ระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • ในช่วงวันที่ 4-5 ม.ค. มีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ในระยะแรก ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 6-10 ม.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภู มีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%
  • เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นในระยะนี้ เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเอง อย่างเพียงพอ
  • สำหรับบริเวณยอดภูในบางช่วงอาจมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นเกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่เกิดกับพืชผลทางการเกษตร
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือน และทำแผงกำบังลมหนาวให้แก่สัตว์เลี้ยง รวมทั้ง หมั่นสังเกต หากพบสัตว์ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่มเพื่อรักษา ป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ
  • ระยะนี้ความชื้นในดินมีน้อย เกษตรกรควรคลุมบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อรักษาความชื้นในดิน

ภาคกลาง

  • ในช่วงวันที่ 5-6 ม.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส สำหรับเทือกเขาอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด14-15 องศาเซลเซีย ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-10 ม.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส สำหรับเทือกเขาอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 15-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%
  • สำหรับปริมาณฝนจะมีน้อย พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • เนื่องจากระยะนี้อากาศแห้ง ผู้ที่ปลูกกล้วยไม้ควรเพิ่มความชื้นในโรงเรือน โดยใช้วัสดุอุ้มน้ำชุบน้ำแล้วนำไปวางไว้ในโรงเรือน รวมทั้งทำแผงกำบังลมด้วย

ภาคตะวันออก

  • ในช่วงวันที่ 5-6 ม.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า และมีฝน บางแห่งถึงเป็นแห่งๆ อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-10 ม.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 15-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก เฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%
  • ในช่วงวันที่ 5-6 ม.ค. จะมีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่ง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เปียกชื้น เสียหายได้
  • ระยะนี้ความชื้นในดินมีน้อย ไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอกหากเห็นดอกชัดเจนแล้ว เกษตรกรควรเริ่มให้น้ำโดยเริ่มจากปริมาณที่น้อยแล้วค่อยเพิ่มขึ้น เพราะหากขาดน้ำในระยะนี้จะทำให้การติดผลลดลง
  • สำหรับปริมาณฝนที่มีน้อยในระยะนี้ เกษตรกรควรวางแผนการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

  • ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 4-8 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ส่วนมากบริเวณภาคใต้ตอนกลาง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-30 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 9-10 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันออก เฉียงเหนือ ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-90%
  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแล รักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • สำหรับพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม โดยหากพบต้นพืชที่ล้มเอนควรผูกยึดให้ตั้งตรง และถ้ามีรอยแผลควรทำความสะอาด แล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา
  • ส่วนพื้นที่ลุ่มที่มีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกอย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เกิน 7 วัน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นตายได้
  • อนึ่งในช่วงวันที่ 9-10 ม.ค.บริเวณอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

  • ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 4-8 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 9-10 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาคลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85%
  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแล รักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ส่วนพื้นที่ลุ่มที่มีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกอย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เกิน 7 วัน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นตายได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ