ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 18 มกราคม 2555 - 24 มกราคม 2555
ภาคเหนือ
- ในช่วงวันที่ 18-19 ม.ค. มีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ทางตอนบนอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-12 องศา ส่วนทางตอนล่างอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 13-19 องศา อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศา สำหรับบริเวณยอดดอย มีอากาศหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 2-8 องศา ส่วนในช่วงวันที่ 20-24 ม.ค. ทางตอนบนอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11-15 องศา ส่วนทางตอนล่างอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศา สำหรับบริเวณยอดดอย มีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-13 องศา ลมอ่อน ความเร็ว 6-12 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70%
- ในช่วงที่มีหมอกหนา เกษตรกรควรเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรด้วย
- สำหรับบริเวณยอดดอยยังมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ และควรระวังความเสียหายจากน้ำค้างแข็งที่จะเกิดกับพืชผลเมืองหนาว
- สำหรับเกษตรกรที่ปลูกไม้ดอกชนิดต่างๆควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณดอกและยอดอ่อน ทำให้พืชแคระแกร็น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- ในช่วงวันที่ 18-21 ม.ค. มีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศา โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนมากตอนล่างของภาค สำหรับบริเวณยอดภู มีอากาศหนาว อุณหภูมิ ต่ำสุด 10-15 องศา ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศา ทางตอนบนอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-15 องศา ส่วนทางตอนล่างอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศา อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศา สำหรับบริเวณยอดภู มีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-14 องศา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70%
- เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
- ในช่วงวันที่ 22-24 ม.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายและมีลมแรง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้วไว้กลางแจ้ง
- ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะมีน้อย
ภาคกลาง
- ในช่วงวันที่ 18-20 ม.ค. มีฝนบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศา สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-15 องศา ส่วนในช่วงวันที่ 21-24 ม.ค. มีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศา สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 15-16 องศา ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%
- ในช่วงวันที่ 18-20 ม.ค. จะมีฝนบางแห่งเกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว ไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้
- สำหรับพืชที่ได้ปลูกไปแล้วและอยู่ในระยะเจริญเติบโต เกษตรกรควรดูแลให้น้ำเพิ่มเติมและวางแผนการใช้น้ำให้เหมาะสมตลอดช่วงแล้ง
ภาคตะวันออก
- ในช่วงวันที่ 18-21 ม.ค.อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนเป็นแห่งๆ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศา สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-15 องศา ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 ม.ค. มีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศา สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 15-16 องศา ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%
- ระยะนี้จะมีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้
- แม้ว่าระยะนี้จะมีฝนตกแต่ปริมาณไม่มาก เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชที่กำลังเจริญเติบโต นอกจากนี้ควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก เพราะอาจมีแมลงศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยและไรแดงระบาดทำลายไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอกและติดผลอ่อน หากพบควรรีบป้องกันกำจัด
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
- ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกระจายส่วนมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศา ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%
- เนื่องจากระยะนี้สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า และโรคเส้นดำ ซึ่งจะทำให้หน้ากรีดยางเสียหายได้
- บริเวณภาคใต้ตอนบนมีฝนตกน้อย เกษตรกรที่ปลูกพืชผักรอบใหม่ ควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชอย่างเพียงพอ เพื่อมิให้พืชชะงักการเจริญเติบโต
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
- ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%
- เนื่องจากระยะนี้สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า และโรคเส้นดำ ซึ่งจะทำให้หน้ากรีดยางเสียหายได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74