พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 29 กุมภาพันธ์ 2555 - 06 มีนาคม 2555

ข่าวทั่วไป Thursday March 1, 2012 06:56 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 29 กุมภาพันธ์ 2555 - 06 มีนาคม 2555

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 29 ก.พ.-2 มี.ค. มีหมอกในตอนเช้า ตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 13-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 มี.ค. มีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-11 องศาเซลเซียส อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70%

  • ระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูร้อน สภาพอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควร รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน
  • เนื่องจากระยะนี้อากาศจมตัวในระดับล่าง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะควันไฟจะไม่สามารถลอยขึ้นไปสู่ระดับบนได้ ทำไห้ควันกระจายไปทางแนวราบปกคลุมบริเวณใกล้เคียง
  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูแล้ง เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำแก่พืชครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง หรือ ให้น้ำในช่วงเย็นถึงค่ำ เพื่อลดการระเหยของน้ำ รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง
  • สำหรับอากาศที่แห้งในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ในพืชไร่ ไม้ผล และนาข้าว ตลอดจนพืชผักซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ต้นทรุดโทรม ผลผลิตเสียหาย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 29 ก.พ.-2 มี.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 มี.ค. อากาศเย็นทางตอนบนของภาคกับมีหมอกในตอนเช้า และมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันออกและตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

  • เนื่องจากอุณหภูมิที่แตกต่างกันมาก ระหว่างกลางวันและกลางคืน เกษตรกรควรดูแลสุภาพของตนเองให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้เจ็บป่วย
  • ระยะนี้น้ำระเหยมาก เกษตรกรจึงควรคลุมบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว หรือหญ้าแห้ง เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่มักเกิดในหน้าร้อน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่ป่วยโดยตรง หากมีความจำเป็นต้องสัมผัสควรสวมถุงมือทุกครั้ง
  • ส่วนผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และดื่มน้ำบ่อยๆ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 29 ก.พ.-2 มี.ค. มีหมอกบางในตอนเช้า อากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 มี.ค. มีหมอกบางในตอนเช้า อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันออกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

  • ระยะนี้น้ำระเหยมาก ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลปริมาณน้ำ และจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยงให้มีความเหมาะสม หากขาดความสมดุลจะทำให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • เนื่องจากอุณหภูมิที่สูง เกษตรกรควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ป้องกันสัตว์เครียด โดยฉีดน้ำบริเวณหลังคาโรงเรือน และเพิ่มปริมาณน้ำกินให้แก่สัตว์เลี้ยง
  • ส่วนผู้ที่ปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เนื่องจากระยะต่อไปฝนจะมีน้อย
  • ระยะนี้อากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ในพืชไร่ ไม้ผล และนาข้าวซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ต้นทรุดโทรม ผลผลิตลดลง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 29 ก.พ.-2 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 มี.ค. มีหมอกบางในตอนเช้า และมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

  • ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต รวมทั้งไม้ผลที่กำลังให้ผลผลิต อย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตด้อยคุณภาพ
  • เนื่องจากระยะต่อไปเป็นช่วงแล้ง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
  • ในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ชาวสวนผลไม้ควรผูกยึดลำต้นและค้ำยันกิ่งของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันการหักโค่น เมื่อมีลมแรง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 1-4 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 5-6 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85%

  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะแตกใบอ่อน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาด ของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้พืชทรุดโทรม
  • บริเวณที่สภาพอากาศแห้ง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบบริเวณสวนยาง และหลีกเลี่ยงการจุดไฟในบริเวณสวนหากมีความจำเป็นต้องจุดไฟ ควรดับให้สนิททุกครั้งหลัง เลิกใช้งาน
  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงหน้าแล้ง บริมาณฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 2-4 มี.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85%

  • บริเวณที่สภาพอากาศแห้ง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบบริเวณสวนยาง และหลีกเลี่ยงการจุดไฟในบริเวณสวนหากมีความจำเป็นต้องจุดไฟ ควรดับให้สนิททุกครั้งหลัง เลิกใช้งาน
  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงหน้าแล้ง บริมาณฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ