พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 10 ตุลาคม 2555 - 16 ตุลาคม 2555

ข่าวทั่วไป Thursday October 11, 2012 07:08 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 10 ตุลาคม 2555 - 16 ตุลาคม 2555

ภาคเหนือ

อากาศเย็นในตอนเช้าทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียสกับมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตะวันตกของภาคตลอดช่วง ลมตะวันออกความเร็ว 10-30 กม./ชม ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

  • เนื่องจากในระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวอากาศ จะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหากร่างกายปรับตัวไม่ทัน
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรทำแผงกำบังลมหนาวให้แก่สัตว์เลี้ยงและเตรียมอุปกรณ์สำหรับให้ความอบอุ่นแก่สัตว์ที่ยังเล็กด้วย
  • ในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกชุก ทำให้ความชื้นที่สะสมในสวนยังคงมีอยู่ เกษตรกรควรระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมในกาแฟ โรคราแป้งในมะขามหวาน และโรค แอนแทรคโนสในส้ม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศเย็นในตอนเช้าทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียสกับมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ตลอดช่วงลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70%

  • เนื่องจากในระยะนี้ปริมาณฝนลดลง เกษตรกรที่ปลูกพืชผัก และไม้ดอกควรดูแลและให้น้ำแก่พืชอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้ง คลุม โคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อรักษาความชื้นในดิน
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ควรเตรียม น้ำสำรองเอาไว้ให้พืชขณะเจริญเติบโต เพราะหากได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต
  • ส่วนผู้ที่ต้องการปลูกพืชในช่วงนี้ยังคงทำได้เนื่องจากดินยังมีความชื้น แต่ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโต

ภาคกลาง

ในวันที่ 10 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างและด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม ส่วนในช่วงวันที่ 11-16 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90%

  • เนื่องจากในระยะต่อไปปริมาณฝนจะลดลง เกษตรกรควร กักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เนื่องจากในระยะต่อไปปริมาณฝนจะลดลง
  • ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมขังในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรควรฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม

ภาคตะวันออก

ในวันที่ 10 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 11-16 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90%

  • เนื่องจากในระยะต่อไปปริมาณฝนจะลดลง เกษตรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • ในระยะที่ผ่านมามีฝนตกชุกและระยะต่อไปฝนจะมีปริมาณลดลง ชาวสวนมังคุดควรป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินใบอ่อนของพืช ทำให้ต้นทรุดโทรม
  • สำหรับชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90%

  • สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระยะนี้จะมีฝนเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและยางพารา
  • ในระยะต่อไปปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาคใต้ ฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเล มีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90%

  • ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากในระยะที่ผ่านมามีฝนตกชุก ทำให้มีความชื้นสูง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไว้ในสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ