พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 19 ตุลาคม 2555 - 25 ตุลาคม 2555

ข่าวทั่วไป Monday October 22, 2012 07:12 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 19 ตุลาคม 2555 - 25 ตุลาคม 2555

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 19-20 และวันที่ 24-25 ต.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม ส่วนในช่วงวันที่ 21-23 ต.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

  • ระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนแปลงจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพ ให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเท ได้สะดวก ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป และจัดเตรียมทำแผงกำบังลมหนาว รวมทั้งเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนให้กับสัตว์ ที่ยังเล็ก
  • ส่วนระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง เกษตรกรควรวางแผน การใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. อากาศเย็นกับมีหมอก ในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 23-25 ต.ค. อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่าง ของภาค ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

-ระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน

  • ระยะต่อไปอุณหภูมิต่ำสุดจะเริ่มลดลง เกษตรกรควรจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์สำหรับกันหนาวเอาไว้ให้พร้อม เพื่อบรรเทาความหนาวเย็นในฤดูหนาว
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำของพืชในระยะเจริญเติบโต เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะลดลง

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 19-20 ต.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบาง ในตอนเช้า และมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม ส่วนในช่วงวันที่ 21-25 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

  • เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝน จะลดลง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
  • ระยะนี้ปริมาณฝนลดลงทำให้บางพื้นที่สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรจึงควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่นเพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นทรุดโทรม ผลผลิตลดลง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 19-20 ต.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบาง ในตอนเช้า และมีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 21-25 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะพักตัวเพื่อเตรียมแทงช่อดอกเกษตรกรควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน รวมทั้งกำจัดวัชพืชในสวน เพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำจากพืชและเป็นแหล่งอาศัย หลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช
  • แม้ปริมาณฝนจะเริ่มลดลงแต่ดินยังคงมีความชื้น เกษตรกรจึงยังคงต้องระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่และไม้ผลตลอดจนพืชสวนไปอีกระยะหนึ่ง
  • ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ตามเดิม

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 19-20 และ 23-25 ต.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90%

  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูฝนของทางภาคใต้ ฝั่งตะวันออก ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรขุดลอก คูคลองและทางน้ำ อย่าให้ตื้นเขิน เพื่อจะได้ระบายน้ำได้เร็วขึ้นเมื่อมีฝนตกหนัก รวมทั้งควรดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่ควรกองสุมวัสดุเหลือใช้ ทางการเกษตรไว้ในสวน เพราะจะเป็นที่อาศัยหลบซ่อน ของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่ง มักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ฝั่งตะวันตก ฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาคโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 23-25 ต.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90%

  • สภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเท ได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ