พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 07 พฤศจิกายน 2555 - 13 พฤศจิกายน 2555

ข่าวทั่วไป Friday November 9, 2012 07:18 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 07 พฤศจิกายน 2555 - 13 พฤศจิกายน 2555

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 7-10 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอย อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-15 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 11-13 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80% - ในช่วงวันที่ 11 - 13 พ.ย. จะเกิดฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตร และกักเก็บน้ำฝนที่ตก เพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้ง - ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กหากปรับตัวไม่ทันจะเจ็บป่วยได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 7-10 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภู อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 11-13 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ในระยะแรก จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75% - ระยะนี้เป็นช่วงที่สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพ ของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรง - สำหรับฝนที่ตกในช่วงนี้ จะมีปริมาณฝนไม่เพียงพอต่อพืชไร่ที่กำลังเจริญเติบโต เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอด้วย เพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตเสียหายได้ - นอกจากนี้เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณพื้นที่เพาะปลูกด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดการระเหยของน้ำและสงวนความชื้นที่บริเวณผิวหน้าดิน

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 7-11 พ.ย. มีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส บริเวณเทือกเขา อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชมความชื้นสัมพัทธ์ 65-75% - สำหรับฝนที่ตกในช่วงนี้จะมีปริมาณฝนไม่เพียงพอต่อพืชไร่และพืชผักที่กำลังเจริญเติบโต เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอด้วย เพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตเสียหายได้ รวมทั้งกำจัดวัชพืชเพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำจากพืช - ส่วนบริเวณที่มีสภาพอากาศแห้งเกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้ต้นทรุดโทรม ผลผลิตลดลง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 7-11 พ.ย. มีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส บริเวณเทือกเขา อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75% - ในช่วงนี้ยังพอมีฝนตก พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรใช้น้ำอย่างประหยัดและกักเก็บน้ำฝน เพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้ง - ระยะต่อไปจะมีปริมาณฝนน้อย ผู้ที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย - นอกจากนี้เกษตรกรควรคลุมพื้นที่เพาะปลูกด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดการระเหยของน้ำและสงวนความชื้นที่บริเวณผิวหน้าดิน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 7-11 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90% - ภาคใต้ ฝั่งตะวันออก บริเวณตอนบนของภาคฝนที่ตกในช่วงนี้ ปริมาณฝนไม่เพียงพอต่อพืชที่กำลังเจริญเติบโต เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ และกักเก็บน้ำฝนที่จะตก เพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้ง - ส่วนตอนล่างของภาค ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำ อย่าให้ตื้นเขิน เพื่อจะได้ระบายน้ำได้เร็วขึ้นเมื่อมีฝนตกหนัก รวมทั้งควรดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่ควรกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไว้ในสวน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่ง มักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 7-11 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90% - ภาคใต้ฝั่งตะวันตก สภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา รวมทั้งทาสารป้องกันเชื้อราบริเวณหน้ากรีดยาง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ