พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 10 ธันวาคม 2555 - 16 ธันวาคม 2555

ข่าวทั่วไป Wednesday December 12, 2012 07:12 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 10 ธันวาคม 2555 - 16 ธันวาคม 2555

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 10-16 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 13-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอย อากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

  • สภาพอากาศจะหนาวเย็นลง เกษตรกรควรเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายของตนเองและสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์เล็ก เกษตรกรควรเพิ่มดวงไฟในโรงเรือนและทำแผงกำบังลมหนาวให้ด้วย
  • ผู้เลี้ยงปลาควรดูแลให้อาหารน้อยลงกว่าปกติ เนื่องจากอากาศหนาวเย็น ปลาจะกินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสียได้

-ระยะนี้จะมีแสงแดดจัด ผลผลิตของข้าวและพืชไร่ที่เก็บเกี่ยวมาแล้วและเปียกชื้นเนื่องจากฝนในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรสามารถนำมาผึ่งแดดเพื่อลดความชื้นในเมล็ด

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 10-16 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภู อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

  • สภาพอากาศจะหนาวเย็นลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพ และเพิ่มความอบอุ่นให้แก่สัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ
  • ระยะนี้สภาพอากาศแห้งและมีลมแรง ผู้ที่จุดไฟให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายและสัตว์เลี้ยง ควรดับไฟให้สนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรวางแผนการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดช่วงแล้ง

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 10-16 ธ.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขา อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหากร่างกายปรับตัวไม่ทัน
  • สภาพอากาศแห้งทำให้น้ำระเหยไปจากดินและพืชได้มาก เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชไร่และพืชผักที่กำลังเจริญเติบโตอย่างเพียงพอ รวมทั้งระวังป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้พืชเสียหาย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 10-16 ธ.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย โดยมีฝนบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขา อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหากร่างกายปรับตัวไม่ทัน
  • สำหรับผลผลิตของข้าวและพืชไร่ที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว เกษตรกรควรทำให้แห้งสนิทก่อนนำเก็บเข้ายุ้งฉาง เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

  • ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 10-12 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 13-16 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85%
  • ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 10-12 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 13-16 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85%
  • ในช่วงวันที่ 10-12 ธ.ค. จะมีฝนลดลง โดยมีฝนอยู่ในเกณฑ์บางแห่งถึงเป็นแห่งๆ เกษตรกรโดยเฉพาะทางตอนบนของภาคซึ่งมีฝนตกน้อยในระยะที่ผ่านมา ควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่กำลังเจริญเติบโตอย่างเพียงพอ รวมทั้งคลุมโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อสงวนความชื้นในดิน
  • ในช่วงวันที่ 13-16 ธ.ค. จะมีฝนเพิ่มขึ้น ทำให้สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
  • สำหรับบริเวณอ่าวไทยตอนล่างคลื่นลมจะมีกำลังค่อนข้างแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ