พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 24 ธันวาคม 2555 - 30 ธันวาคม 2555

ข่าวทั่วไป Tuesday December 25, 2012 07:21 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 24 ธันวาคม 2555 - 30 ธันวาคม 2555

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 24-27 ธ.ค. มีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ในระยะแรก จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ทางตอนบนของภาคอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 2-8 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ส่วนในช่วงวันที่ 28-29 ธ.ค. อากาศหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีก 4-7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 1-7 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

  • ในช่วงวันที่ 24-27 ธ.ค. จะมีฝนบางแห่งถึงเป็น แห่ง ๆ เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง
  • สำหรับอุณหภูมิที่ลดลงในช่วงนี้เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงป้องกันการเจ็บป่วย
  • ในระยะนี้สภาพอากาศแห้งกับมีลมแรง ผู้ที่จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย
  • สำหรับบริเวณยอดดอยจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวัง ความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 24-25 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง ทางตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภู อากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ส่วนในช่วงวันที่ 26-30 ธ.ค. มีหมอกในตอนเช้า ทางตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภู อากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

  • ระยะนี้อากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองให้เพียงพอและดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
  • เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งกับมีลมแรง ผู้ที่จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงควรดับไฟให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน ส่วนชาวสวนยางพารา ควรทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย
  • ในระยะนี้อัตรการระเหยของน้ำจากพื้นดินมีมาก เกษตรกรควรคลุมพื้นที่เพาะปลูกด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อรักษาความชื้นในดิน

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 24-25 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 15-22 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 26-30 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขา อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน
  • ในช่วงที่อุณหภูมิลดลงผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหาร เนื่องจากสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย รวมทั้งควรดูแลปริมาณน้ำให้เหมาะกับจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยง หากขาดความสมดุลจะทำให้สัตว์น้ำอ่อนแอเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 24-25 ธ.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส และมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 15-22 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 26-30 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขา อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

  • ในช่วงที่อุณหภูมิลดลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • เนื่องจากในระยะนี้เป็นช่วงแล้ง ไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเหมาะสม โดยหากเห็นดอกชัดเจนแล้วจึงควรให้น้ำโดยให้น้ำครั้งละน้อยๆ และค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น
  • ระยะนี้อัตราการระเหยของน้ำจากพื้นดินมีมาก เกษตรกรควรคลุมพื้นที่เพาะปลูกด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อรักษาความชื้นในดิน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 24-26 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส อ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จังหวัดชุมพรขึ้นมา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 27-30 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90%

  • ในระยะนี้ภาคใต้จะมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกอย่าปล่อยให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนานเพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นตายได้
  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตก สภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล และโรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา
  • ในช่วงวันที่ 24-26 ธ.ค. คลื่นลมบริเวณอ่าวไทย จะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 24-27 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90%

  • ในระยะนี้ภาคใต้จะมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกอย่าปล่อยให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนานเพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นตายได้
  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตก สภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล และโรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ