พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 16 มกราคม 2556 - 22 มกราคม 2556

ข่าวทั่วไป Thursday January 17, 2013 06:48 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 16 มกราคม 2556 - 22 มกราคม 2556

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 16-17, 21-22 ม.ค. มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ทางตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18-20 ม.ค. มีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ทางตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-18 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 3-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในช่วงวันที่ 16-17, 21-22 ม.ค. เกษตรกรควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวังขณะผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว เกษตรกรไม่ควรตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะจะได้รับความชื้นเพิ่มขึ้นจากหมอกและน้ำค้าง
  • ในช่วงวันที่ 18-20 ม.ค. อากาศจะหนาวเย็นลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง และทำแผงกำบังลมหนาวหรือเพิ่มดวงไฟในโรงเรือนเพื่อให้ความอบอุ่นแก่สัตว์เลี้ยง สำหรับบริเวณยอดดอยจะมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง เกษตรกรควรป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 17-19 ม.ค. อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส และมีลมแรง ทางตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-18 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภู อากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 20-22 ม.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภู อากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • ในช่วงวันที่ 17-19 ม.ค. อุณหภูมิจะลดลงและมีลมแรง เกษตกรกรควรเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายและสัตว์เลี้ยง ส่วนผู้ที่จุดไฟผิงเพื่อเพิ่มความอบอุ่นควรดับไฟให้สนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์น้ำควรควบคุมอุณหภูมิน้ำไม่ให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน และให้อาหารน้อยกว่าปกติ เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลง สัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสียได้
  • ระยะนี้สภาพอากาศแห้ง ชาวสวนยางพาราควรป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยเก็บกวาดกิ่งไม้และใบไม้แห้งในสวนให้โล่งเตียน รวมทั้งทำแนวป้องกันไฟไว้ด้วย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 16-17, 20-22 ม.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 15-18 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18-19 ม.ค. อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

-ในช่วงที่อากาศหนาวเย็นลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

  • ระยะนี้ในตอนกลางวันท้องฟ้าโปร่งและมีแสงแดดจัด เกษตรกรสามารถตากผลผลิตทางการเกษตรเพื่อลดความชื้น
  • ช่วงนี้สภาพอากาศแห้งและน้ำระเหยมาก เกษตรกรควรสงวนความชื้นในดิน โดยคลุมดินรอบโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว หรือหญ้าแห้ง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 16-17, 20-22 ม.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-19 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18-19 ม.ค. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส และมีลมแรง อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

-ในช่วงที่อากาศหนาวเย็นลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

  • ระยะนี้สภาพอากาศแห้งและน้ำระเหยมาก ไม้ผลที่ดอกบานและติดผลแล้ว ชาวสวนควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งกำจัดวัชพืชภายในสวน เพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำจากไม้ผล นอกจากนี้ควรป้องกันกำจัดศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยไว้ด้วย
  • ระยะที่ผ่านมาแม้บางพื้นที่จะมีฝนตกแต่ปริมาณไม่มากเกษตรกรควรวางแผนการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรตลอดช่วงแล้ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

  • ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 16-18 มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส อ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมาลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาคตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป อ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมาลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.
  • ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 16-19 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 20-22 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
  • ระยะนี้ทางตอนบนของภาคจะมีฝนตกน้อย ประกอบกับในระยะที่ผ่านมาไม่มีฝนตกในหลายพื้นที่ เกษตรควรจัดหาน้ำเพิ่มเติมให้แก่พืชที่กำลังเจริญเติบโตอย่างเพียงพอ รวมทั้งคลุมดินบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อสงวนความชื้นในดิน
  • บริเวณตอนล่างของภาคในช่วงวันที่ 19-22 ม.ค. จะมีฝนเพิ่มขึ้น ชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันโรคพืชจากเชื้อรา
  • ในช่วงวันที่ 19- 22 ม.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ