พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 08 กุมภาพันธ์ 2556 - 14 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวทั่วไป Monday February 11, 2013 06:45 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 08 กุมภาพันธ์ 2556 - 14 กุมภาพันธ์ 2556

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 8-11 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าโดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันออก และตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12-14 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

-ในช่วงที่มีลมกระโชกแรง เกษตรกรควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้อยู่ในสภาพมั่นคงและแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้ม

-สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหาย เนื่องจากฝนที่ตกได้

-ส่วนผู้ที่ปลูกพืชผักในระยะนี้ควรระวังและป้องกัน การระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราน้ำค้างที่อาจเกิดขึ้นได้ หากพบต้นที่เป็นโรคควรรีบควบคุมโรค เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่นๆ

-สำหรับสภาพอากาศที่หนาวเย็นทางตอนบนของภาค เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กควรดูแลเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 8-10 และ 13-14 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 11-12 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

-ในช่วงวันที่ 8-10 และ 13-14 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์สำหรับผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้อยู่ในสภาพมั่นคง และแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นลมเมื่อลมพัดแรง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะฝนฟ้าคะนอง

-สำหรับสภาพอากาศที่แตกต่างกันมากในช่วงกลางวัน และกลางคืน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

-เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นใบไม้ ฟางข้าว หรือหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชื้นภายในดิน

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 8-11 ก.พ. มีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12-14 ก.พ. มีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก เฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

-ระยะนี้ปริมาณน้ำระเหยมีมากผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรดูแลปริมาณน้ำให้มีความเหมาะสมกับจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยงหากขาดความสมดุลจะทำให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรค ได้ง่าย

-ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เนื่องจากต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง

-สำหรับเกษตรกรที่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง ควรใช้น้ำอย่างประหยัด โดยให้น้ำแก่พืชครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง และควรให้น้ำพืชในช่วงเย็น เพื่อลดการระเหยของน้ำ

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 8-10 และ 13-14 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 11-12 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

-สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเหมาะสม เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต ส่งผลให้ผลผลิตด้อยคุณภาพ

-เกษตรกรควรวางแผนการจัดการน้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง

-ฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดี แก่พืชที่อยู่ในระยเจริญเติบโตและจะช่วยลดการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดลงไปได้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 8-9 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 10-14 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาคอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมาลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.

  • ทางตอนบนของภาคมีฝนตกน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่มีระบบรากตื้นอย่างเพียงพอ
  • ทางตอนล่างของภาคจะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตรด้วยเนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงหน้าแล้ง
  • สำหรับชาวสวนยางพารา ควรทำแนวกันไฟรอบบริเวณแปลงปลูกเพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจุดไฟในบริเวณสวนหากมีความจำเป็นควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน
  • ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะแตกใบอ่อน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นทรุดโทรม
  • ในช่วงวันที่ 9-14 ก.พ. อ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 8-9 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 10-14 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • ทางตอนบนของภาคมีฝนตกน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่มีระบบรากตื้นอย่างเพียงพอ
  • ทางตอนล่างของภาคจะมีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตรด้วยเนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงหน้าแล้ง
  • สำหรับชาวสวนยางพารา ควรทำแนวกันไฟรอบบริเวณแปลงปลูกเพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจุดไฟในบริเวณสวนหากมีความจำเป็นควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ