พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 18 มีนาคม 2556 - 24 มีนาคม 2556

ข่าวทั่วไป Tuesday March 19, 2013 07:08 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 18 มีนาคม 2556 - 24 มีนาคม 2556

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 18-20 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่กับลมกระโชกแรงบางแห่ง อากาศเย็นในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 21-24 มี.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 17-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส

  • ระยะนี้มีแดดจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งนานๆหากมีความจำเป็นควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และดื่มน้ำบ่อยๆ
  • ส่วนผู้ที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรรอให้มีฝนตกสม่ำเสมอเสียก่อนแล้วค่อยลงมือปลูก
  • สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยโดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูกและหลีกเลี่ยงการจุดไฟในบริเวณสวน หากมีความจำเป็นควรดับให้สนิททุกครั้ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 18-20 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่กับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันออกของภาค และอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 21-24 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างและทางด้านตะวันออกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูร้อน
  • เนื่องจากปริมาณฝนมีน้อย ประกอบกับน้ำระเหยมาก ทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรคลุมบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน
  • สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดเช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ในพืชไร่ และไม้ผลตลอดจนพืชผัก ซึ่งจะดูดกินจากน้ำเลี้ยงทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตเสียหาย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 18-20 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 21-24 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค

  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยฉีดน้ำบริเวณหลังคา หรือนำวัสดุอุ้มน้ำชุบน้ำแล้วนำไปไว้ในโรงเรือน รวมทั้งเพิ่มน้ำกินให้แก่สัตว์เลี้ยงด้วย
  • แม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณไม่มาก เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง และควรให้น้ำพืชในช่วงเย็น เพื่อลดการระเหยของน้ำ
  • สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง เกษตรกรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย ในพื้นที่การเกษตร และอาคารบ้านเรือน ตลอดจนโรงเก็บพืชผลทางการเกษตรด้วย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 18-20 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากตามบริเวณชายฝั่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 21-24 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากตามบริเวณชายฝั่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

  • เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักใว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตกน้อย สภาพอากาศแห้งเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง
  • เนื่องจากปริมาณฝนมีน้อย เกษตรกรควรรักษาความชื้นภายในดิน โดยคลุมบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อรักษาความชื้นภายในดิน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีเมฆบางส่วน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร

  • สำหรับบริเวณที่มีฝนที่ตกน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ เพราะหากได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต หากขาดน้ำเป็นเวลานานๆจะทำให้ต้นตายได้
  • ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก และแตกใบอ่อน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต การติดผลลดลง
  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตรด้วย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร

  • สำหรับบริเวณที่มีฝนที่ตกน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ เพราะหากได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต หากขาดน้ำเป็นเวลานานๆจะทำให้ต้นตายได้
  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตรด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ