พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 20 พฤษภาคม 2556 - 26 พฤษภาคม 2556

ข่าวทั่วไป Tuesday May 21, 2013 09:45 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 20 พฤษภาคม 2556 - 26 พฤษภาคม 2556

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาคอุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.วันที่ 23-26 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งอุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

-ระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

-สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชรุ่นใหม่ในระยะนี้ เกษตรกรควรคลุกเมล็ดพันธุ์หรือชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งปรับสภาพพื้นที่ให้มีการระบายน้ำที่ดี เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น

-ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เช่นลิ้นจี่ เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง ให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาค อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ในช่วงวันที่ 23-26 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

-ในช่วงต้นฤดูฝนสภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพราะอาจเจ็บป่วยได้ง่ายหากร่างกายปรับตัวไม่ทัน

-ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกไม่อับชื้น และพื้นคอกไม่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันสัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

  • ส่วนเกษตรกรที่ปลูกพืชรุ่นใหม่ควรชุบท่อนพันธุ์หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นความชื้นในดินจะสูงเหมาะกับการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ในช่วงวันที่ 23-26 พ.ค.มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่การเกษตร เมื่อมีฝนตกหนัก รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์สำหรับระบายน้ำเอาใว้ให้พร้อม
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับกั้นขอบบ่อเลี้ยงเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีฝนตกหนัก

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ในช่วงวันที่ 23-26 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูง มากกว่า 2 เมตร

  • เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น ชาวสวนผลไม้ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่ควรกองวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไว้บริเวณโคนต้นพืช เพราะอาจทำให้เกิดโรคเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง
  • สำหรับผู้ที่เตรียมดินสำหรับปลูกพืชรอบใหม่ในระยะนี้ควรจัดการแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี

-ในช่วงวันที่ 23-26 พ.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมี คลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ในช่วงวันที่ 23-26 พ.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะสัตว์น้ำจะปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

-ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอกและแตกใบอ่อน เช่น ทุเรียนและมังคุด ชาวสวนควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต การติดผลลดลง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 23-26 พ.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

  • ระยะนี้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนมากกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรขุดลอกคูคลอง และทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนานเกิน 7 วัน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นตายได้
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะสัตว์น้ำจะปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

-ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอกและแตกใบอ่อน เช่น ทุเรียนและมังคุด ชาวสวนควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต การติดผลลดลง

  • ในช่วงวันที่ 23-26 พ.ค. บริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกฝั่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ