พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 18 ตุลาคม 2556 - 24 ตุลาคม 2556

ข่าวทั่วไป Monday October 21, 2013 07:12 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 18 ตุลาคม 2556 - 24 ตุลาคม 2556

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 23-24 ต.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุดยอดดอย 9-12 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-30 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

-ระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาวสภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันมิให้เจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูแล้ง ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดน้อยลง พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร และวางแผนการจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง

-สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ในระยะนี้ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อให้สัตว์ปรับตัวได้ รวมทั้งไม่ปล่อยให้ลมโกรกบริเวณโรงเรือน เพราะจะทำให้สัตว์หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 23-24 ต.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-30 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุดยอดภู 10-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

-ในระยะนี้เป็นช่วงฤดูหนาวตอนต้นสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

-เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย และควรมีน้ำสำรองไว้ให้พืชในระยะเจริญเติบโตด้วย

-สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบฟื้นฟูสภาพพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ตามปกติ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-32 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 23-24 ต.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-31 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

-สำหรับพื้นที่การเกษตรซึ่งถูกน้ำท่วม หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงเพาะปลูกรวมทั้งระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดหลังน้ำลดโดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

-ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ

-พื้นที่ซึ่งอยู่ทางตอนล่างของภาคที่ยังคงมีน้ำท่วม เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่มากับน้ำ เช่น โรคฉี่หนู โรคตาแดง โรคระบบทางเดินอาหาร และน้ำกัดเท้า เป็นต้น

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 19-21 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

-สำหรับสวนผลไม้ที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก อย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนานเกิน 7 วัน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศและต้นตายได้

  • ส่วนผู้ที่ปลูกพริกไทยในระยะนี้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่า ซึ่งจะทำให้ต้นตายได้ หากพบต้นที่เป็นโรคควรรีบกำจัดอย่าให้เชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่น เพราะจะทำให้ควบคุมโรคได้ยาก

-พื้นที่ซึ่งยังคงมีน้ำท่วม เกษตรกรควรระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ เช่น ตะขาบ แมงป่อง และงู เป็นต้น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

-ระยะนี้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนเพิ่มขึ้นกว่าระยะที่ผ่านมา ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

  • เนื่องจากในบางช่วงจะมีปริมาณฝนมาก เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำ ตลอดจนปากบางที่น้ำไหลออกทะเลให้กว้าง อย่าให้มีสิ่งกีดขวางและตื้นเขิน เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก ป้องกันน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรที่อยู่ริมน้ำ
  • สำหรับชาวสวนผลไม่ไม่ควรกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไว้บริเวณโคนต้นพืช เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง ทำให้ต้นพืชตายได้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 19-20 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 21-24 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • เนื่องจากในบางช่วงจะมีปริมาณฝนมาก เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำ ตลอดจนปากบางที่น้ำไหลออกทะเลให้กว้าง อย่าให้มีสิ่งกีดขวางและตื้นเขิน เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก ป้องกันน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรที่อยู่ริมน้ำ
  • สำหรับชาวสวนผลไม่ไม่ควรกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไว้บริเวณโคนต้นพืช เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง ทำให้ต้นพืชตายได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ