พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 25 ตุลาคม 2556 - 31 ตุลาคม 2556

ข่าวทั่วไป Monday October 28, 2013 08:32 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 25 ตุลาคม 2556 - 31 ตุลาคม 2556

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 25-27 ต.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 7-13 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 28-31 ต.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส และมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว ความชื้นในดินยังคงมีอยู่ เนื่องจากเพิ่งผ่านฤดูฝนมา เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ยังคงทำได้ แต่ควรมีน้ำสำรองสำหรับพืชในระยะเจริญเติบโต เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง
  • สำหรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ เกษตรกรควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะสัตว์เลี้ยงอาจปรับตัวไม่ทันทำให้อ่อแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งหมั่นสังเกตหากพบสัตว์ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่มเพื่อรักษา ป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ
  • ฝนที่ตกในระยะนี้จะช่วยลดการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ผล ลงไปได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 25-27 ต.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 28-31 ต.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • สำหรับข้าวนาปีที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และออกรวง ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกอ และหนอนกระทู้ ซึ่งจะกัดกินต้นข้าวทำให้ต้นข้าวเสียหาย ผลผลิตลดลงได้
  • เนื่องจากบางพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วม เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบควรระวังและป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย
  • เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ ควรเก็บกักน้ำเอาใว้ให้พืชในระยะต่อไป หากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตลดลง ถ้าขาดน้ำจะทำให้ไม่ได้รับผลผลิตเลย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 25-27 ต.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 28-31 ต.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาค

  • สำหรับพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคตาแดง และน้ำกัดเท้า เป็นต้น
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลคอกสัตว์อย่าให้อับชื้น เพื่อป้องกันสัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่ป่วยโดยตรงหากมีความจำเป็นต้องสัมผัสควรสวมถุงมือทุกครั้ง
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ป้องกันสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 25-27 ต.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากตามบริเวณชายฝั่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 28-31 ต.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากตามบริเวณชายฝั่ง

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกอย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนานเพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นตายได้
  • แม้บางพื้นที่ปริมาณฝนจะลดลง แต่ความชื้นภายในดินยังคงมีอยู่ ซึ่งในบางพื้นที่ดินยังคงมีความชื้นสูง ชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน ซึ่งเกิดจากเชื้อไฟทอปธอรา จะทำให้ต้นพืชตาย
  • เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักใว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค ในช่วงวันที่ 25-26 ต.ค. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

  • ระยะนี้ภาคใต้จะมีฝนตกชุก พื้นที่ซึ่งมีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออก ชาวสวนผลไม้ไม่ควรกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไว้บริเวณโคนต้นพืช เพราะจะเป็นแหล่งอาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง
  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะสัตว์น้ำอาจปรับตัวไม่ทันทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหากโตได้ขนาดควรทะยอยจับขายไปก่อน เพื่อลดความเสียงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาค โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 25-26 ต.ค. ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

  • ระยะนี้ภาคใต้จะมีฝนตกชุก พื้นที่ซึ่งมีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะสัตว์น้ำอาจปรับตัวไม่ทันทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหากโตได้ขนาดควรทะยอยจับขายไปก่อน เพื่อลดความเสียงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ