พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 01 พฤศจิกายน 2556 - 07 พฤศจิกายน 2556

ข่าวทั่วไป Monday November 4, 2013 07:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 01 พฤศจิกายน 2556 - 07 พฤศจิกายน 2556

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 1-5 พ.ย. อากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-30 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-13 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 6-7 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส กับมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-30 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 7-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง ปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย
  • สำหรับเกษตรกรที่ปลูกไม้ดอกในระยะนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น ราน้ำค้างและ ราแป้ง ในกุหลาบ โรคราสนิมในเบญจมาศ และดาวเรือง หากพบการระบาดของโรคดังกล่าวควรรีบกำจัด เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่นๆ
  • ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรควรดูแลโรงเรือนอย่าให้ลมโกรก เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็น และเพิ่มอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้แก่สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็ก เพื่อป้องกันสัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 1-3 พ.ย. อากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส กับมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-30 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • สำหรับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน จนอ่อแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ในช่วงที่มีฝนตกโดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค เกษตรกรที่มีแหล่งเก็บน้ำเป็นของตนเองควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร และควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง
  • ในช่วงที่สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 1-4 พ.ย. อากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. อากาศเย็นและอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส กับมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงกว่าที่ผ่านมา
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะจะทำให้สัตว์เปียกชื้นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งควรหมั่นสังเกตหากพบตัวที่ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่ม แล้วทำการรักษา เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ
  • พื้นที่การเกษตรซึ่งถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบพื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม หากพบต้นไม้ที่ล้มเอน ควรทำความสะอาดรอยแผลแล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 1-4 พ.ย. อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. อากาศเย็นและอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส กับมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงหน้าแล้ง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน ชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราโดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน
  • สำหรับพื้นที่ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมเกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่มากับน้ำ เช่นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคตาแดง และน้ำกัดเท้า เป็นต้น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 1-3 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 4-7 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นหน้าฝนของภาคใต้ฝั่งตะวันออกปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรในพื้นที่ซึ่งเคยมีประวัติน้ำท่วมมาก่อนควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยควรจัดทำทางระบายนน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
  • ส่วนชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีฝนตกชุก
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผลหากผลแก่ดีแล้ว เกษตรกรควรรีบเก็บเกี่ยวเพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 1-3 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 4-7 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรในพื้นที่ซึ่งเคยมีประวัติน้ำท่วมมาก่อนควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยควรจัดทำทางระบายนน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
  • ส่วนชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีฝนตกชุก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ