พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 22 พฤศจิกายน 2556 - 28 พฤศจิกายน 2556

ข่าวทั่วไป Monday November 25, 2013 08:35 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 22 พฤศจิกายน 2556 - 28 พฤศจิกายน 2556

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 22-24 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 25-28 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ในระยะแรก ส่วนมากทางตอนบนของภาค และอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้บางพื้นที่จะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราน้ำค้างในพืชไร่และพืชผัก หากพบการระบาดของโรคดังกล่าวควรรีบกำจัดเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่นๆ

-สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรที่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง ควรใช้น้ำอย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต ครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง และให้น้ำพืชในเวลาเย็น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน

-ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-17 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ในระยะแรก และอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

-ระยะนี้ปริมาณน้ำที่ระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำจากหน้าดิน และสงวนความชื้นภายในดิน

-เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งประกอบกับบางช่วงมีลมแรง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยและไฟป่า โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้ถนนหลวง เพราะควันไฟจะบดบังทัศนวิสัย อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

-ส่วนผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว เช่นข้าว ไม่ควรตากทิ้งไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 22-24 พ.ย. อากาศเย็นทางตอนบนของภาคกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 25-28 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ และอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • สำหรับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ เกษตรกรควรดูแลอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันและเจ็บป่วยได้ง่าย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน และมีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 22-24 พ.ย. อากาศเย็นทางตอนบนของภาคกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 25-28 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงหน้าแล้ง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ใทางด้านการเกษตร ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • ระยะนี้แม้ปริมาณฝนจะน้อยลงกว่าระยะที่ผ่านมา แต่ความชื้นในดินยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค ชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันโรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียน ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายหากพบควรรีบควบคุมโรค เพื่อไม่ให้แพร่ไปยังต้นอื่นๆ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่บริเวณจังหวัดชุมพรลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทางตอนล่างของภาค หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 27-28 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส

-ระยะนี้เป็นช่วงฤดูฝนของทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น พื้นที่ซึ่งมีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยอพยพสัตว์เลี้ยงรวมทั้งอาหารสัตว์ไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง

-สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกอย่าให้น้ำท่วมบริเวณโคนต้นพืชนาน เกิน7วัน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศและต้นตายได้

-ในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย.คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงโดยมีคลื่นสูง 2-4เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรระวังความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงดังกล่าว

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 22-24 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 25-28 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

-ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น พื้นที่ซึ่งมีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยอพยพสัตว์เลี้ยงรวมทั้งอาหารสัตว์ไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง

-สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกอย่าให้น้ำท่วมบริเวณโคนต้นพืชนาน เกิน7วัน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศและต้นตายได้

-ในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย.คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงโดยมีคลื่นสูง 2-4เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรระวังความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงดังกล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ