ระหว่าง 21 พฤษภาคม 2557 - 27 พฤษภาคม 2557
ภาคเหนือ
ในวันที่ 21-23 พ.ค. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 24-27 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
- ระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
- สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชผักในระยะนี้ควรเตรียมดินและ ยกร่องแปลงปลูกให้สูง เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก รวมทั้งควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อราก่อนปลูก
- ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เช่นลิ้นจี่ เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง ให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในวันที่ 21-23 พ.ค. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 24-27 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
- ระยะต่อไปจะเข้าสู่ฤดูฝน อากาศมีความชื้นสูงเหมาะแก่การเกิดโรคพืชจำพวกเชื้อรา เกษตรกรที่จะปลูกพืชรอบใหม่ ควรคลุกเมล็ดพันธุ์และชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา
- เนื่องจากในบางช่วงจะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งขณะฝนฟ้าคะนอง เพราะอาจจะได้รับอันตรายได้
- ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มั่นคงแข็งแรงรวมทั้งซ่อมแซมหลังคาอย่าให้รั่วซึม และทำแผงกำบังฝนสาดให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้น อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคกลาง
ในวันที่ 21-23 พ.ค. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตก และตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 24-27 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
- ในบางช่วงจะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งขณะฝนฟ้าคะนอง
- สำหรับเกษตรกรที่เตรียมดินสำหรับปลูกพืชรอบใหม่ ควรยกร่อง แปลงปลูกให้สูง รวมทั้งเตรียมทำทางระบายน้ำเอาไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนักในระยะต่อไป
- ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับกั้นขอบบ่อเลี้ยงเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีฝนตกหนัก
ภาคตะวันออก
ในวันที่ 21-23 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 24-27 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
- ระยะนี้สภาพอากาศมีความชื้นสูง ซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่งเพื่อลดความชื้นภายในสวนและใช้สารป้องกันเชื้อราทาบริเวณหน้ากรีดยาง
- ระยะต่อไปปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว ชาวสวนควรเก็บกวาดผลที่ร่วงหล่นไปทำลาย ไม่ควรกองสุมไว้ในสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ในวันที่ 21-23 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 24-27 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
- สำหรับทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันออกแม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณยังไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรดูแลให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชอย่างเหมาะสม เพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชเหี่ยวเฉา โดยเฉพาะไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอกและติดผลอ่อน หากขาดน้ำจะทำให้ดอกและผลอ่อนหลุดร่วงได้
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
ในวันที่ 21-23 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 23-27 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกกว่า 2 เมตร
- ระยะต่อไปทางฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรควรตรวจสอบและดูแลอุปกรณ์สำหรับระบายน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งจัดเตรียมทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก ขุดลอกคูคลอง และสันดอนปากแม่น้ำ เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนักในระยะต่อไป
- ระยะนี้ บริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74