พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 28 พฤษภาคม 2557 - 03 มิถุนายน 2557

ข่าวทั่วไป Thursday May 29, 2014 08:01 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 28 พฤษภาคม 2557 - 03 มิถุนายน 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 29 พ.ค.-3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกและทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว เกษตรกรไม่ควรปล่อยผลที่ร่วงหล่นและเน่าเสียกองอยู่ในบริเวณสวน แต่ควรเก็บกวาดและนำไปกำจัดให้ถูกวิธี เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน
  • ส่วนผู้ที่ปลูกพืชไร่ในระยะนี้ควรเตรียมดินให้มีการระบายน้ำที่ดีเนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูฝนความชื้นในดินจะสูง อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคพืชได้
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลังคาอย่าให้รั่วซึม เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้นทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 29 พ.ค.-3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • สำหรับบางช่วงอาจมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่ง ขณะฟ้าคะนอง
  • เนื่องจากในฤดูฝนศัตรูสัตว์จะเจริญเติบโตได้ดี เช่น หนู และแมลงต่างๆ เกษตรกรควรดูแลสัตว์เลี้ยงอย่าให้ศัตรูสัตว์ดังกล่าวมารบกวนสัตว์เลี้ยง เนื่องจากศัตรูสัตว์ดังกล่าวอาจนำเชื้อโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้
  • ส่วนผู้ที่ปลูกพืชรุ่นใหม่ควรชุบท่อนพันธุ์หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูฝนปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 29 พ.ค.-3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่และป้ายโฆษณาสูงขณะฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง

-สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรยกร่องแปลงปลูกให้สูง และจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก รวมทั้งดูแลอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน

  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนแปลงสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 29 พ.ค.-3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

  • สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรรีบตัดแต่งกิ่งและขั้วผล แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งไม่ควรปล่อยผลที่เน่าเสียและร่วงหล่นไว้ในสวนแต่ควรรวบรวมไปกำจัดให้ถูกวิธีโดยเผาหรือฝัง เพื่อตัดวงจรชีวิตของโรคและแมลงศัตรูพืช
  • ส่วนผู้ที่ปลูกพืชไร่ในระยะนี้ควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูกป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 29 พ.ค.-3 มิ.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

  • ส่วนทางฝั่งตะวันออกบางพื้นที่ยังมีฝนตกน้อยโดยเฉพาะทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ ส่วนทางตอนล่างของภาคที่มีฝนตก ไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหายได้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 28-29 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 31 พ.ค.-3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกกว่า 2 เมตร

  • ระยะนี้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะเป็นด้านรับลมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักได้บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • สำหรับทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกผู้ที่ปลูกพืชสวน เช่น ยางพารา และกาแฟ เป็นต้น ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
  • อนึ่งบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกกว่า 2 เมตรชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ