พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 02 มิถุนายน 2557 - 08 มิถุนายน 2557

ข่าวทั่วไป Tuesday June 3, 2014 08:52 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 02 มิถุนายน 2557 - 08 มิถุนายน 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 2-3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 4-8 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • สัปดาห์นี้ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น สภาพอากาศ มีความชื้นสูง ชาวสวนผลไม้ และกาแฟ ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
  • ส่วนพืชผักที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตเกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนทำให้ผลผลิตเสียหายได้
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมทั้งอย่าให้หลังคารั่วซึม เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้นทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 2-3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 4-8 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • สัปดาห์นี้จะมีฝนเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีต่อพืชไร่ที่อยู่ระยะเจริญเติบโต และช่วยลดการระบาดศัตรูพืชจำพวกปากดูด โดยเฉพาะเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง
  • ส่วนผู้ที่ปลูกพืชไร่และผักรุ่นใหม่ควรชุบท่อนพันธุ์หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้โปร่ง อย่าให้อับชื้น เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นสัตว์กีบอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 2-3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 4-8 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • สัปดาห์นี้ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น สภาพอากาศ มีความชื้นสูง ชาวสวนกล้วยไม้ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา
  • ส่วนชาวนาที่กำลังจะเริ่มเพาะกล้าไม่ควรตกกล้าให้แน่นเกินไปเพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคไหม้ในข้าวนาปี

-สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรยกร่องแปลงปลูกให้สูง และจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก รวมทั้งดูแลอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 2-3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 4-8 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • สัปดาห์นี้ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น สภาพอากาศ มีความชื้นสูง ซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โล่งเตียนเพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วง ลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคเส้นดำ
  • สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งและขั้วผล แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งไม่ควรปล่อยผลที่เน่าเสียและร่วงหล่นไว้ในสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 2-3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 4-8 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • สำหรับสภาพอากาศมีความชื้นสูงซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โล่งเตียนเพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วง ลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคเส้นดำ
  • ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหายได้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

  • สัปดาห์นี้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรตรวจสอบและดูแลอุปกรณ์สำหรับระบายน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งจัดเตรียมทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก ขุดลอกคูคลอง เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนักในระยะต่อไป
  • สำหรับสภาพอากาศมีความชื้นสูงซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โล่งเตียนเพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วง ลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคเส้นดำ
  • ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหายได้
  • สัปดาห์นี้ บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง ประมาณ 2 - 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ