พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 30 มิถุนายน 2557 - 06 กรกฎาคม 2557

ข่าวทั่วไป Tuesday July 1, 2014 08:44 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 30 มิถุนายน 2557 - 06 กรกฎาคม 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 1-2 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • สัปดาห์นี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง สภาพอากาศ มีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกไม้ดอก และพืชผัก ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบจุดและดอกเน่าในเบญจมาศ และโรคราน้ำค้างและราสนิม ในพืชผักสวนครัว เป็นต้น หากพบควรรีบกำจัดก่อนจะแพร่ไปสู่ต้นอื่นๆ
  • สำหรับชาวสวนลำไย และสวนกาแฟควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสีชมพู ในลำไย และโรคราสนิมและโรคผลเน่า ในกาแฟ เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 1-2 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันออกและตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • สัปดาห์นี้ยังคงมีฝนตกชุก สภาพอากาศ มีความชื้นสูง ชาวนาไม่ควรหว่านกล้าแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสะสมในแปลงกล้า ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราโดยเฉพาะโรคไหม้ รวมทั้งการระบาดของหนอนห่อใบข้าว และหนอนกอข้าว
  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตกชุกเกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบ
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรระวังสภาพน้ำและคุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลงในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ป้องกันสัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 1-2 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักแห่งทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • สัปดาห์นี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง สภาพอากาศ มีความชื้นสูง โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่พืชผักในระยะนี้ควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้พืชเสียหาย ผลผลิตลดลง
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก พื้นคอกไม่ชื้นแฉะและหลังคาไม่รั่วซึม ป้องกันสัตว์เปียกชื้นอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 1-2 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยซึ่งเคยมีประวัติน้ำท่วมมาก่อน
  • สำหรับสวนผลไม้ที่อยู่ในที่ลุ่ม ชาวสวนควรระวังอย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้ รวมทั้งระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้พืชเสียหาย และชะงักการเจริญเติบโต
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3 – 6 ก.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 1-2 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. อ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร

  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหายได้ โดยหมั่นสำรวจสวน หากพบควรรีบกำจัด
  • ส่วนชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบยางร่วง ลูกยางเน่า โรคราสีชมพู และโรคหน้ากรีดยาง เป็นต้น
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3 – 6 ก.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 1-2 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร

  • สัปดาห์นี้ทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายกับพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งควรตรวจสอบและดูแลอุปกรณ์สำหรับระบายน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหายได้ โดยหมั่นสำรวจสวน หากพบควรรีบกำจัด
  • ส่วนชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบยางร่วง ลูกยางเน่า โรคราสีชมพู และโรคหน้ากรีดยาง เป็นต้น
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3 – 6 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมาควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ