พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 31 ตุลาคม 2557 - 06 พฤศจิกายน 2557

ข่าวทั่วไป Monday November 3, 2014 09:04 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 31 ตุลาคม 2557 - 06 พฤศจิกายน 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 1-2 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมแรง ในช่วงวันที่ 3-4 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 5-6 พ.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

-ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลงโดยจะมีอากาศเย็นในตอนเช้าสลับกับบางวันอาจมีฝนตก เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

-สำหรับในบางช่วงอาจมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกษตรกรควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้แข็งแรงเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

-ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

-ในช่วงต้นฤดูหนาวอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้แตกต่างกันระหว่างผิวหน้าน้ำกับน้ำในระดับลึก โดยเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อให้น้ำผสมกันเป็นเนื้อเดียวกันและเพิ่มออกซิเจนในน้ำ เพราะหากน้ำแยกชั้นจะทำให้สัตว์น้ำขาดอากาศ อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

-เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแต่ควรใช้วิธีฝังให้ลึกแทน เพราะในช่วงฤดูหนาวควันไฟอาจไม่ลอยขึ้นในอากาศแต่จะแผ่ปกคลุมบริเวณใกล้เคียงทำให้การมองเห็นลดลง เป็นอันตรายต่อการสัญจร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 1-2 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมแรง ในช่วงวันที่ 3-4 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วง 5-6 พ.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

-ระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจะเปลี่ยนแปลง โดยมีอากาศเย็นในตอนเช้าและมีฝนฟ้าคะนองในบางวัน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพราะร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย

-ในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง รวมทั้งดูแลโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มีความมั่นคงแข็งแรง

-สำหรับข้าวนาปีในระยะนี้ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่นหนอนกอ หนอนห่อใบข้าว และหนอนกระทู้คอรวง เป็นต้น ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของข้าว ทำให้ต้นข้าวเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 1-2 และ 5-6 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 3-4 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

-ระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาวอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

-ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะสัตว์เลี้ยงอาจปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และควรหลีกเลี่ยงสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากสัตว์หากมีความจำเป็นควรสวมถุงมือยางทุกครั้ง

-ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากในเดือนต่อไปจะเป็นช่วงแล้งปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 1-4 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วง 5-6 พ.ย. มีหมอกบางในตอนเช้า กับมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

-ในช่วงที่ฝนลดลงโดยเฉพาะทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งหนอนจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตเสียหาย และด้อยคุณภาพ

-สำหรับทางตอนล่างของภาคความชื้นในดินยังมีสูง เกษตรกรควรระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคเน่าคอดินในพืชไร่และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย และอาจถึงตายได้

-เนื่องจากในเดือนต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่กักเก็บไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 1-4 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5-6 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

-ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยขุดลอกคูคลองและสันดอนปากแม่น้ำอย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวกป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัย

-สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรป้องกันน้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

-ในช่วงที่มีฝนตกทำให้ความชื้นในดินและในอากาศสูงชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าและโรคราสีชมพูเป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายและตายได้ หากพบควรรีบควบคุมโรค เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่นๆ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 1-4 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5-6 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

-ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยขุดลอกคูคลองและสันดอนปากแม่น้ำอย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวกป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัย

-สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรป้องกันน้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ