พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 07 พฤศจิกายน 2557 - 13 พฤศจิกายน 2557

ข่าวทั่วไป Friday November 7, 2014 14:52 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 07 พฤศจิกายน 2557 - 13 พฤศจิกายน 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. มีเมฆมาก โดยมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในช่วงวันที่ 10-13 พ.ย.อุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง เพราะหากร่างกายปรับตัวไม่ทันอาจทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะสัตว์เลี้ยงอาจปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ส่วนฝนที่ตกในระยะที่ผ่านมาจะช่วยลดการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดลงไปได้บ้าง แต่เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล ข้าว นาปี และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง
  • เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในวันที่ 7-8 พ.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 8-13 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • ในช่วงวันที่ 8-13 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควร ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรรักษาอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหมั่นสังเกตหากพบตัวที่เป็นโรคควรรีบแยกออกจากกลุ่มแล้วรักษาและควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากสัตว์หากมีความจำเป็นควรใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดและสวมถุงมือยางทุกครั้ง
  • สำหรับข้าวนาปีที่อยู่ในระยะตั้งท้องและออกรวง เกษตรกรควรระวังและปองกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกระทู้ หนอนกอ และหนอนห่อใบข้าว เป็นต้น ซึ่งหนอนดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นข้าวเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ในช่วงวันที่ 10-13 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • เกษตรกรควระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และไม้ดอก ซึ่งหนอนจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตเสียหาย
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ ในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรครากเน่าในพริกไทย เป็นต้น
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้แตกต่างกันมากระหว่างผิวน้ำกับน้ำในระดับลึก เพื่อป้องกันสัตว์น้ำขาดอากาศ อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับบริเวณที่มีฝนลดลง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินใบและยอดอ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตเสียหาย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และในช่วงวันที่ 8-9 พ.ย. มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเตรียมพื้นที่สำหรับอพยพสัตว์เลี้ยงและอาหารสัตว์ตลอดจนพันธุ์พืชไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง หากเกษตรกรต้องอพยพไปด้วยควรเตรียมอาหารและน้ำดื่มเอาไว้ให้พร้อม
  • สำหรับผู้ที่ปลูกไม้ผลควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรครากเน่าโคนเน่าและโรคใบติดในทุเรียน โรคราสีชมพูในลองกอง เป็นต้น
  • ส่วนผู้ที่ปลูก ยางพารา กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ควรกำจัดวัชพืชในสวนให้โล่งเตียน เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของโรคและศัตรูพืช
  • อนึ่ง ช่วงวันที่ 7-10 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรงส่วนในช่วงวันที่ 10-11 พ.ย.คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยจะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงประมาณ 4 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หากสัตว์น้ำโตได้ขนาดควรจับขายไปก่อนบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สำหรับชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ในช่วงวันที่ 10-11 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเตรียมพื้นที่สำหรับอพยพสัตว์เลี้ยงและอาหารสัตว์ตลอดจนพันธุ์พืชไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง หากเกษตรกรต้องอพยพไปด้วยควรเตรียมอาหารและน้ำดื่มเอาไว้ให้พร้อม
  • ส่วนผู้ที่ปลูก ยางพารา กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก ควรกำจัดวัชพืชในสวนให้โล่งเตียน เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของโรคและศัตรูพืช
  • อนึ่ง ช่วงวันที่ 7-10 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรงส่วนในช่วงวันที่ 10-11 พ.ย.คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยจะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงประมาณ 4 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หากสัตว์น้ำโตได้ขนาดควรจับขายไปก่อนบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สำหรับชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ