พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 08 พฤษภาคม 2558 - 14 พฤษภาคม 2558

ข่าวทั่วไป Friday May 8, 2015 14:25 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 08 พฤษภาคม 2558 - 14 พฤษภาคม 2558

ภาคเหนือ

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกได้บางแห่ง ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ค.จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เสียหายได้ รวมทั้งไม่ควรเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง
  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ในระยะนี้ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ส่วนเกษตรกรที่เตรียมดินไว้สำหรับปลูกพืชในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงนี้ควรเตรียมดินให้มีการระบายน้ำที่ดี เพื่อป้องกันโรคพืชที่จะเกิดในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกได้บางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันออกและตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้มีแดดจัด เกษตรกรไม่ควรอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องทำงานกลางแดดควรสวมเครื่องป้องกันแสงแดดให้มิดชิด เพื่อป้องกันผิวหนังไหม้เกรียม และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
  • สำหรับในบางวันอาจมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งขณะฟ้าคะนอง
  • ส่วนพื้นที่ซึ่งมีฝนตกในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตด้อยคุณภาพ
  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูฝน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรสำรวจตรวจสอบโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มีความมั่นคงแข็งแรง หลังคาไม่รั่วซึม พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้น อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันตก และตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้มีแดดจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งควรสวมเสื้อผ้าให้และเครื่องป้องกันแดดให้มิดชิด เพื่อมิให้ผิวหนังไหม้เกรียม และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรที่เตรียมพื้นที่เพาะปลูกสำหรับปลูกพืชในช่วงฤดูฝนนี้ควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลหลังคาโรงเรือนอย่าให้รั่วซึม และทำแผงกำบังฝนสาด ยกพื้นคอกสัตว์ให้สูง และดูแลพื้นคอกไม่ให้ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ค. ตอนบนของภาคมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตรส่วนในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

  • เกษตรกรที่เตรียมดินสำหรับปลูกพืชในระยะนี้ ควรเตรียมดินให้มีการระบายน้ำที่ดี และจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนในระยะต่อไป
  • ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยวผลผลิต ชาวสวนควรเก็บกวาดผลที่เน่าเสียและร่วงหล่น ตลอดจนเปลือกผลไม้ ไปกำจัดเพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน
  • ระยะนี้จะมีฝนเป็นแห่งๆถึงกระจาย ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะ ทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

  • เนื่องจากระยะต่อไปภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝน มากกว่าทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควร ทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก ขุดลอกคูคลอง อย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก
  • ระยะนี้แม้จะมีฝนตก แต่ปริมาณและการกระจายยังมีน้อย ไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตเพราะอาจมีศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินและทำลายผล ทำให้ผลเสียหาย ผลผลิตด้อยคุณภาพ
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • พื้นที่ซึ่งมีฝนตก จนพืชสามารถฟื้นตัวจากความแห้งแล้งที่ผ่านมาได้แล้ว หากดินมีความชุ่มชื้นเพียงพอก็สามารถลงมือให้ปุ๋ยแก่พืชได้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

  • เนื่องจากระยะต่อไปภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝน มากกว่าทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควร ทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก ขุดลอกคูคลอง อย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • พื้นที่ซึ่งมีฝนตก จนพืชสามารถฟื้นตัวจากความแห้งแล้งที่ผ่านมาได้แล้ว หากดินมีความชุ่มชื้นเพียงพอก็สามารถลงมือให้ปุ๋ยแก่พืชได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ