ระหว่าง 16 ธันวาคม 2558 - 22 ธันวาคม 2558
ภาคเหนือ
- การคาดการณ์ฝน ในช่วงวันที่ 16-19 ธ.ค. มีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่
- การคาดการณ์อุณหภูมิ อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยจะมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 20-22 ธ.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 15-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอย อากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 3-8 องศาเซลเซียส
- ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณโดยทั่วไปมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าการคายระเหยน้ำทำให้ทางตอนบนของภาคสมดุลย์น้ำอยู่ในช่วง (-20) – (-30) มม. เป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางตอนล่างของภาคมีสมดุลย์น้ำอยู่ในช่วง (-30) – (-40) มม. ประกอบกับในช่วง 7 วันข้างหน้าจะมีฝนบางแห่ง และมีปริมาณน้อย ซึ่งจะทำให้สมดุลย์น้ำมีค่าน้อยลง ทำให้ปริมาณน้ำในดินลดลงเรื่อยๆ จนอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันพืชชะงักการเจริญเติบโต ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยที่อาจมีน้ำค้างแข็ง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำพืชในช่วงเย็น เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับท่อลำเลียงน้ำของพืชในขณะมีน้ำค้างแข็ง พร้อมทั้งควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน สำหรับสมดุลน้ำที่ลดลงจะส่งผลดีต่อไม้ผลที่อยู่ในระยะเตรียมแทงช่อดอก เช่น ลิ้นจี่และลำไย หากมีความหนาวเย็นต่อเนื่องและยาวนาน จะทำให้พืชแตกตาดอกได้ดีในระยะต่อไป
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- การคาดการณ์ฝน ไม่มีฝน
- การคาดการณ์อุณหภูมิ ในวันที่ 16-19 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิจะลดลง 4-7 องศาเซลเซียส ในวันที่ 20-22 ธ.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 15-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดภู อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-12 องศาเซลเซียส
- ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาโดยทั่วไปมีค่าการคายระเหยน้ำของพืชมากกว่าฝนที่ตก สมดุลย์น้ำอยู่ในช่วง (-30) – (-40) มม. ประกอบกับในช่วง 7 วันข้างหน้า จะไม่มีฝน ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในดินลดลงเรื่อยๆ จนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นเกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติม โดยเฉพาะพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต เพื่อป้องกันพืชชะงักการเจริญเติบโต ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตลดลง และควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน
ภาคกลาง
- การคาดการณ์ฝน ไม่มีฝน
- การคาดการณ์อุณหภูมิ ในวันที่ 16-19 ธ.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ในวันที่ 20-22 ธ.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส
- ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าการคายระเหยน้ำของพืช โดยมีค่าสมดุลย์น้ำอยู่ในช่วง (-30) – (-40) มม. ประกอบกับในช่วง 7 วันข้างหน้า ไม่มีฝน ซึ่งจะทำให้สมดุลย์น้ำลดลง ปริมาณน้ำในดินน้อยลงเรื่อยๆ จนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นเกษตรกรควรวางแผนการให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม และใช้น้ำอย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง และควรให้น้ำพืชในช่วงเย็น เพื่อลดอัตราการสูญเสียน้ำในการระเหย รวมทั้งคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน
ภาคตะวันออก
- การคาดการณ์ฝน ไม่มีฝน
- การคาดการณ์อุณหภูมิ ในช่วงวันที่ 16-19 ธ.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ในวันที่ 20-22 ธ.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส
- ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาสมดุลย์น้ำมีค่า(-30) – (-40) มม. เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีค่าการคายระเหยน้ำของพืชมีมากกว่าปริมาณฝนที่ตก ประกอบกับในช่วง 7 วันข้างหน้า ไม่มีฝน ซึ่งจะทำให้สมดุลย์น้ำลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในดินมีน้อยลงเรื่อยๆ เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติม เพื่อป้องกันพืชเหี่ยวเฉา (หากมีการให้น้ำพืชสามารถฟื้นขึ้นมาได้) ซึ่งถ้าพืชขาดน้ำเป็นเวลานานจะทำให้พืชเหี่ยวเฉาถาวร (แม้จะมีการให้น้ำพืชก็ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้) และต้นพืชตายได้
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
- การคาดการณ์ฝน ในช่วงวันที่ 16-19 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 20-22 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนหนักบางแห่ง
- การคาดการณ์อุณหภูมิ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส
- ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาทางตอนบนของภาคบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และตอนบนและด้านตะวันออกของจังหวัดชุมพร ตอนบนและด้านตะวันออกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี สมดุลย์น้ำมีค่า(-30) – (-40) มม. เกษตรกรควรให้น้ำพืชอย่างเหมาะสม ส่วนบริเวณจังหวัดชุมพรตอนล่าง และด้านตะวันตก สุราษฎร์ธานีตอนล่างและด้านตะวันตก สมดุลย์น้ำมีค่า(-1) – (-20) มม. เป็นส่วนใหญ่ซึ่งความชื้นในดินยังคงมีอยู่ ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช สมดุลย์น้ำมีค่า(-10) – (40) มม. และตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปสมดุลย์น้ำมีค่า(-10) – (-30) มม. สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า จะมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งจะทำให้สมดุลน้ำมีค่าสูงขึ้น ส่งผลให้ดินมีความชื้นสูง โดยเฉพาะ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปอาจมีน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืช ทำให้รากขาดอากาศและเกิดโรครากเน่าและโคนเน่าได้ เกษตรกรในบริเวณดังกล่าวควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก และไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพื่อป้องกันรากพืชขาดอากาศและต้นพืชตายได้
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
- การคาดการณ์ฝน มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง
- การคาดการณ์อุณหภูมิ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
- ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาสมดุลย์น้ำมีค่า(-20) – (100) มม. โดยมีสมดุลย์น้ำสูงสุดอยู่ที่ ตอนล่างของจังหวัดพังงา ภูเก็ต และกระบี่ สมดุลย์น้ำมีค่า(1) – (100) มม. ส่วนบริเวณอื่นอยู่ในช่วง(-1) – (-20) มม. เป็นส่วนใหญ่ ส่วนในช่วง 7 วันข้างหน้า จะยังคงมีฝนที่ตกตลอดช่วง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการเจริญเติบโตของพืช
หมายเหตุสมดุลน้ำ คือ ปริมาณฝน – ปริมาณการคายระเหยน้ำของพืช, การคายระเหยน้ำ คือ น้ำระเหย + การคายน้ำของพืช แผนที่สมดุลน้ำสามารถดาวน์โหลดได้ตามลิงค์ http://www.arcims.tmd.go.th/DailyDATA/PET7day.php สำหรับแผนที่สมดุลน้ำคิดที่สถานีตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ส่วนในบริเวณอื่นเป็นการประมาณค่า (Interpolation)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74