ระหว่าง 18 ธันวาคม 2558 - 24 ธันวาคม 2558
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 18-21 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 25-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 3-9 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 ธ.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อยและมีหมอกในตอนเช้ากับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อากาศเย็นถึงหนาวอุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
- ระยะนี้ยังคงมีอากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด เกษตรกรควรเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ตนเอง และสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และควรดับไฟให้สนิททุกครั้งหลังจากจุดไฟให้ความอบอุ่น เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย
- ช่วงที่มีอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ที่เลี้ยงปลาควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อปรับอุณหภูมิน้ำและเป็นการเพิ่มออกซิเจน รวมทั้งลดอาหารให้น้อยลง เพราะปลาจะกินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ ส่งผลให้ปลาอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
- ในช่วงวันที่ 22-24 ธค. จะมีหมอกและน้ำค้างในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราน้ำค้างในพืชผัก ราสนิมในกาแฟ และราดำในมะขามหวาน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 18-20 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 11-17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 25-30 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดภู อากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 21-24 ธ.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดภู อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
- ระยะนี้อากาศจะหนาวเย็นโดยทั่วไปกับมีลมแรง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
- ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนและทำแผงกำบังลมหนาวให้แก่สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็ก เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็น จนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งแจ้งตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้สัตว์ที่ไม่แข็งแรงป่วยและตายได้
- ช่วงที่มีอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ที่เลี้ยงปลาควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อปรับอุณหภูมิน้ำและเป็นการเพิ่มออกซิเจน รวมทั้งลดอาหารให้น้อยลง เพราะปลาจะกินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ ส่งผลให้ปลาอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคกลาง
ในวันที่ 18-20 ธ.ค. อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 21-24 ธ.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
- ช่วงที่อุณหภูมิลดลง เกษตรกรควรเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ตนเอง และสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
- สำหรับสภาพอากาศแห้งและลมแรงทำให้น้ำระเหยไปจากดินและพืชได้มาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำและรักษาความชื้นในดิน
- ส่วนผู้ที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อายุการเก็บเกี่ยวสั้น โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว ซึ่งจะช่วยบำรุงดิน
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 18-20 ธ.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2-3 เมตร ส่วนในวันที่ 21-24 ธ.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
- ระยะนี้สภาพอากาศแห้งและลมแรง เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำและรักษาความชื้นในดิน
*สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะพักตัวใกล้ออกดอก เกษตรกรควรงดให้น้ำรอจนเห็นตาดอกชัดเจนแล้วค่อยเริ่มให้น้ำ โดยเริ่มจากปริมาณน้อยๆแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ส่งผลต่อการผลิดอกออกผลของพืช
- ในช่วงวันที่ 18-20 ธ.ค. คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2-3 เมตรชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 19-20 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 21-24 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-33 องศาเซลเซียส
- ในช่วงวันที่ 21-24 ธ.ค. ภาคใต้ ฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพื้นที่การเกษตร โดยจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกอย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้
- ในช่วงวันที่ 18-24 ธ.ค. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
ในช่วงวันที่ 18-20 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 21-24 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส
- สำหรับบริเวณที่มีฝนตกต่อเนื่อง สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพารา ไม้ผล และกาแฟ ควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง โดยหมั่นกำจัดวัชพืชภายในสวนให้โล่งเตียน เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดความชื้นภายในสวน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74