พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 05 สิงหาคม 2559 - 11 สิงหาคม 2559

ข่าวทั่วไป Friday August 5, 2016 15:06 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 05 สิงหาคม 2559 - 11 สิงหาคม 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 5-7 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 8-11 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคฉี่หนู
  • ไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรรีบตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็ว มีเวลาพักตัวได้นาน และเตรียมออกดอกในฤดูต่อไป
  • สัตว์เลี้ยง:ดูแลหลังคาโรงเรือนอย่าให้รั่วซึม พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ ป้องกันสัตว์เปียกชื้นหนาวเย็น อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 5-7 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 8-11 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • ข้าวนาปี : อากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ โรคใบหงิก โรคขอบใบแห้ง และโรคใบสีเหลืองส้ม เป็นต้น
  • สัตว์เลี้ยง : เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ
  • พืชไร่ : ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้างในข้าวโพด โรคแส้ดำในอ้อย เป็นต้น

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 5-7 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ในช่วงวันที่ 8-11 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในแปลงปลูกนานทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้
  • ข้าว : ระวังป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน
  • สัตว์น้ำ : เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 5-7 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 8-11 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล : สภาพดินและอากาศมีความชื้นสูงชาวสวนควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคใบติดในทุเรียน เป็นต้น
  • ยางพารา : เกษตรกรควรดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
  • ระยะนี้จะมีคลื่นลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนบนควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 5-7 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 8-11 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล ไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งให้แข็งแรง และตัดผลที่ศัตรูพืชทำลาย และผลที่โตไม่ได้ขนาดทิ้ง และไม่ควรกองไว้ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช
  • ยางพารา : เกษตรกรควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า และโรคเส้นดำเป็นต้น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 5-7 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 8-11 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส

  • ยางพารา (ฝั่งตะวันตก) : เกษตรกรควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า และโรคเส้นดำเป็นต้น
  • ประมงชายฝั่ง :ระยะนี้จะมีคลื่นลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งบริเวณทะเลอันดามัน ควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และในช่วง 8-11 ส.ค. เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

หมายเหตุ http://www.arcims.tmd.go.th/dailydata/PET7day.php http://www.arcims.tmd.go.th/dailydata/MonthRain.php

  • ปริมาณฝนสะสมเดือนสิงหาคม (1 – 4) สำหรับในช่วงวันที่1-4 ส.ค. มีฝนสะสม 1-50 มม.เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ บางพื้นที่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนสะสม 50-100 มม. แม้ในช่วงวันที่1-4บริเวณประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมยังไม่มาก แต่เนื่องจากในเดือนที่ผ่านมามีฝนตกมาตลอด ทำให้ปริมาณฝนสะสมในสิบวันที่ผ่านมายังคงมีอยู่ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พืช
  • ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา มีปริมาณฝนสะสม 20-100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บางพื้นที่ของภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนมากกว่าบริเวณอื่นคือ 100-300 มม. ส่วนภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมน้อยกว่าบริเวณอื่น คือ 1-10 มม.
  • ศักย์การคายระเหยน้ำ : ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 25 – 30 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออกมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 30 – 35 มม. ส่วนพื้นที่ซึ่งมีค่าการคายระเหยน้ำสะสม 20 – 25 มม.อยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่างด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนด้านตะวันตกเป็นส่วนใหญ่
  • สมดุลน้ำ : ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาสมดุลน้ำมีค่า (1) - (70) มม. เป็นส่วนใหญ่ โดยสมดุลย์น้ำสูงสุดอยู่ที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกและภาคตะวันออกมีค่า 100-300 มม. ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง มีค่าสมดุลน้ำ ( - 1) ถึง (-30) มม.
  • คำแนะนำ : ในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้ในหลายพื้นที่มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวก แต่บางพื้นที่ค่าสมดุลน้ำยังคงมีน้อย และในช่วง 7 วันข้างหน้ายังคงมีฝนตก กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และเจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ