ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 05 ธันวาคม 2559 - 11 ธันวาคม 2559
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 5-6 ธ.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า และหมอกหนาบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 7-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-11 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 4-10 องศาเซลเซียส
- เกษตรกร สัปดาห์นี้ยังคงมีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด เกษตรกรควรเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ตนเอง และสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และควรดับไฟให้สนิททุกครั้งหลังจากจุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่น
- พืชไร่/ ไม้ดอก/ พืชผัก อากาศเย็นกับมีหมอกและน้ำค้างในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคราน้ำค้างในพืชผัก ข้าวโพด และพืชตระกูลแตง ราแป้งในกุหลาบ และราสนิมในกาแฟ เป็นต้น นอกจากนี้ ไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้
- สัตว์น้ำ ช่วงที่มีอุณหภูมิลดลง ส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำและน้ำในระดับล่างแตกต่างกัน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อปรับอุณหภูมิน้ำและเป็นการเพิ่มออกซิเจน รวมทั้งลดอาหารให้น้อยลง เพราะสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ ส่งผลให้ปลาอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 5-6 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-11 ธ.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม.
- สัตว์เลี้ยง สภาพอากาศหนาวเย็นกับมีลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนและทำแผงกำบังลมหนาวให้แก่สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็ก เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็น จนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งแจ้งตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้สัตว์ที่ไม่แข็งแรงเจ็บป่วยได้
- ยางพารา สภาพอากาศแห้ง และลมแรง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยหลีกเลี่ยงการจุดไฟในบริเวณสวนหากมีความจำเป็นควรดับให้สนิท รวมทั้งระมัดระวังการเกิดอัคคีภัยบริเวณที่อยู่อาศัย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 5-6 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 7-11 ธ.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.
- พื้นที่การเกษตร สภาพอากาศแห้งและแดดจัด ทำให้น้ำระเหยจากดินและพืชได้มาก เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ที่กำลังเจริญเติบโตอย่างเพียงพอ หากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต รวมทั้งระวังป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตเสียหายได้
- สัตว์เลี้ยง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน ไม่ควรปล่อยให้ลมหนาวโกรกภายในโรงเรือน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงหนาวเย็น จนอ่อนแอและป่วยเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 5-6 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-11 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
- พื้นที่การเกษตร สภาพอากาศแห้งและแดดจัด ทำให้น้ำระเหยจากดินและพืชได้มาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำและรักษาความชื้นในดิน รวมทั้งระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่นเพลี้ยและไร ชนิดต่างๆ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตด้อยคุณภาพ
- ผลผลิตทางการเกษตร สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อายุการเก็บเกี่ยวสั้น และวางแผนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 5-6 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนมากตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7 -11 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-32 องศาเซลเซียส
- พื้นที่การ เกษตร ช่วงวันที่ 5-6 ธ.ค. ภาคใต้ ยังคงมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวัง ผลกระทบจากฝนตกหนักและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพื้นที่การเกษตร ส่วนบริเวณที่มีน้ำท่วมหากระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก และพื้นฟูสภาพสวนให้ดีดังเดิม
- สัตว์เลี้ยง ฝนตกต่อเนื่องกับมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรป้องกันการเจ็บป่วยของสัตว์ โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ รวมทั้งควรหมั่นสังเกต หากพบสัตว์ป่วยควรแยกออกจากกลุ่ม และรีบรักษา
- ประมงชายฝั่ง ในช่วงวันที่ 5 – 6 ธ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งควรระวังคลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น สำหรับชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
ในช่วงวันที่ 5-6 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-11 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส
- พื้นที่การ เกษตร ช่วงวันที่ 5-6 ธ.ค. ภาคใต้ ยังคงมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวัง ผลกระทบจากฝนตกหนักและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพื้นที่การเกษตร ส่วนบริเวณที่มีน้ำท่วมหากระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก และพื้นฟูสภาพสวนให้ดีดังเดิม
- สัตว์เลี้ยง ฝนตกต่อเนื่องกับมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรป้องกันการเจ็บป่วยของสัตว์ โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ รวมทั้งควรหมั่นสังเกต หากพบสัตว์ป่วยควรแยกออกจากกลุ่ม และรีบรักษา
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตรในวันที่ 5 - 11 ธันวาคม 2559
ปริมาณฝนสะสมเดือนธันวาคม( 1-4 ธ.ค.) ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเล็กน้อยบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนบริเวณอื่นๆ ไม่มีรายงานฝนตก สำหรับภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องโดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ซึ่งมีฝนตกสะสมสูงสุด ประมาณ 600-700 มม. บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุงและสงขลา ส่วนบริเวณอื่นๆมีปริมาณฝนสะสมอยู่ในช่วง50-300 มม.
ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเล็กน้อยบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีและระยอง ส่วนบริเวณอื่นๆไม่มีรายงานฝนตกสำหรับบริเวณภาคใต้ตกต่อเนื่องโดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ซึ่งมีฝนสะสมสูงสุดประมาณ 600-700 มม. บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุงและสงขลา ส่วนบริเวณอื่นๆมีปริมาณฝนสะสมอยู่ในช่วง50-300 มม.
ศักย์การคายระเหยน้ำ ระยะที่ผ่านมาศักย์การคายระเหยน้ำประเทศไทยมีค่าระหว่าง (-10)(-20) มม.ยกเว้นบริเวณบางส่วนของภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก มีค่าสมดุลน้ำ (-20)-(-30) มม.
สมดุลน้ำ ระยะที่ผ่านมาค่าสมดุลน้ำบริเวณประเทศไทยตอนบนมีค่าเป็นลบเนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่มีฝนตก โดยภาคเหนือมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-10)(-20) มม.ส่วนบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก มีค่าสมดุลน้ำ (-20)-(-30)มม.ส่วนบริเวณภาคใต้โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกมีค่าสมดุลน้ำเป็นบวกอยู่ระหว่าง 40-600 มม.
คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านประเทศไทยตอนบนไม่มีฝนตก ทำให้พื้นที่โดยทั่วไปมีค่าสมดุลน้ำเป็นลบและในช่วง 7 วันข้างหน้าจัมีฝนตกเล็กน้อย ดังนั้นเกษตรปลูกพืชผักหรือพืชชนิดอื่นๆ ควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่ปลูกเพิ่มเติม สำหรับภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านและยังคงมีฝนตกต่อไปอีกในช่วง 1-2 วันนี้ พื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วม เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกอย่าให้ทีน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศและเน่า ส่งผลให้พืชยืนต้นตายได้ นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม่ผลและพืชผักเอาไว้ด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74