พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 5 - 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Monday February 5, 2018 15:54 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 5 - 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 16/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 5-6 ก.พ. ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลงได้อีก 2-4 องศาเซลเซียส ทำให้มีอากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่องกับมีลมแรง สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-3 ม. หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 7-9 ก.พ. ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ สำหรับภาคใต้จะมีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง ในช่วงวันที่ 10-12 ก.พ. ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส โดยภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 ม.

คำเตือน ในช่วงวันที่ 5-7 ก.พ. บริเวณประเทศไทยจะมีอากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรง เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกควรระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 8-10 ก.พ. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะขณะผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5-6 และ 10-12 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ตอนบนของภาคอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 11-14 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 24-27 องศาเซลเซียส ตอนล่างของภาคอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 25-29 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 1-7 องศาเซลเซียส และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ลมตะวันตก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 7-9 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 25-29 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดอุณหภูมิต่ำสุด 4-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว10-25 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็น โดยทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาคจะมีอากาศหนาวเย็นกว่าบริเวณอื่นๆเกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
  • เนื่องจากในฤดูหนาวอากาศจะจมตัว เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เนื่องจากควันไฟจะไม่สามารถลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศได้ แต่จะแผ่ปกคลุมบริเวณข้างเคียง เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทำให้ทัศนวิสัยลดลง เป็นอุปสรรค์ต่อการใช้รถใช้ถนน
  • สำหรับบริเวณยอดอยจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5-7 และ 10-12 ก.พ. อากาศหนาวกับมีลมแรงอุณภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 10-14องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 24-27 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-10องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 8-9 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-30 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำ สุด 6-12 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับเกษตรกรที่จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยง ควรระมัดระวัง และป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยดับไฟให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน
  • เนื่องจากสภาพอากาศแห้งและมีลมแรงทำให้น้ำระเหยได้มาก ประกอบกับปริมาณฝนมีน้อย ทำให้น้ำในดินลดลงเกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช หรือบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดินและอุณหภูมิดิน
  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือนทำให้สัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5–6 และ 10-12 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยจะมีฝนเล็กน้อยในวันที่ 10 ก.พ. อุณหภูมิต่ำสุด 15-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-29 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-9 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 18-22องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง หากร่างกายปรับตัวไม่ทันอาจเจ็บป่วยได้ เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูร้อนปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโตและระยะผลิดอกออกผลอย่างเพียงพอ เพราะหากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลงถ้าขาดน้ำจะทำให้ต้นพืชตายสูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5-6 และ 10-12 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง และอุณหภูมิลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยจะมีฝนเล็กน้อยในวันที่ 10-11 ก.พ. อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-29 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ทางตอนบนของภาคอากาศเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงแล้ง เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • เนื่องจากปริมาณน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 5 - 8 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีขึ้นมา: ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป: ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด28-30 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 9 - 12 ก.พ. มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 5 -8 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 1030 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม.ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 9 - 12 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออกความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ทางตอนบนของภาคอากาศเย็น เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่แป้องกันการเจ็บป่วย-สำหรับในช่วงวันที่ 5-8 ก.พ.จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • ในช่วงนี้สภาพอากาศชื้น โดยเฉพาะทางตอนกลางและตอนล่างของภาค เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชสวน และพืชผักต่างๆ เช่นโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคราสีชมพูในพืชสวน โรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายและตายได้-ในช่วงวันที่ 5-7 ก.พ. คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงโดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร เกษตรกรที่อยู่อาศัยบริเวณชายฝั่งควรระวังป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น สำหรับชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่ง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 5 - 11 กุมภาพันธ์ 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนกุมภาพันธ์ (ในวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2561) บริเวณประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 10 มม. เว้นแต่บริเวณจังหวัดระยอง และภาคใต้ตอนบนที่มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 10 มม. โดยบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดระนอง มีปริมาณฝนสะสมมากกว่าบริเวณอื่น มีปริมาณฝนสะสม 50 – 100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกรวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล มีปริมาณฝนสะสม 25-100 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดระนอง มีปริมาณฝนสะสม 50-100 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม. เป็นส่วนมาก เว้นแต่ภาคใต้ตอนล่างมีค่าศักย์ การคายระเหยน้ำสะสม 30-35 มม.

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-30) มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนมีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-70 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิลดลง2 - 4 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับภาคใต้ยังมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ