พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 19 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Monday March 19, 2018 16:12 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 19-25 มีนาคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 34/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 20-23 มี.ค.ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ หลังจากนั้นในวันที่ 24-25 มี.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง และมีอากาศร้อน ในช่วงวันที่ 22-25 มี.ค. ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 20-23 มี.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งและปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่กลางแจ้ง ขณะฟ้าคะนอง รวมทั้งไม่ควรเข้าใกล้ สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 19-20 มี.ค. และ 24-25 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 17-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 21-23 มี.ค.มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยมีอากาศเย็นในตอนเช้าและมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน สลับกับมีฝนฟ้าคะนองเกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ในช่วงวันที่ 20-23 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยสำรวจวัสดุและอุปกรณ์ที่ผูกยึดและค้ำยันกิ่งของไม้ผลให้อยู่ในสภาพมั่นคงและแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก ต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 20-22 มี.ค.มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 27 - 33 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 มี.ค.อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 20-23 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่ง และปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่กลางแจ้งขณะฝนฟ้าคะนอง รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เปียกชื้นเสียหายได้
  • ฝนที่ตกจะช่วยคลายความร้อนลงไปได้ แต่ปริมาณยังไม่มากเกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้งเป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำ รักษาความชื้นภายในดินไว้
  • เนื่องจากฝนที่ตกและหยุดสลับกันในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 19-20 มี.ค. และ 24-25 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 21-23 มี.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 20-23 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ โรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร ตลอดจนอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะฟ้าคะนอง
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
  • เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 20-22 มี.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 23-25มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 20-23 มี.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ชาวสวนผลไม้ควรสำรวจวัสดุและอุปกรณ์ที่ผูกยึด และค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้อยู่ในสภาพมั่นคงและแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก ต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมแรง
  • เนื่องจากฝนที่ตกและหยุดสลับกันในระยะนี้ สภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผลและพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 19-21 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 19-21 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ส่วนในวันที่ 22-25 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อนสภาพอากาศแห้งประกอบกับมีอุณหภูมิสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ และโรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร ตลอดจนอาคารบ้านเรือนโดยเฉพาะบริเวณสวนยางพาราควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟหากมีความจำเป็นต้องจุดไฟเพื่อใช้งานควรดับให้สนิททุกครั้งหลักจากเสร็จภารกิจ
  • ในช่วงฤดูร้อนปริมาณน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน
  • แม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อยเกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตร
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 19-25 มี.ค. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนมีนาคม (ในช่วงวันที่ 1-18 มีนาคม) บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกตอนบนและตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-150 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาคมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และตราด มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-120 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่บริเวณจังหวัดตรัง มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 52.8 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 25-40 มม.

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-40) มม. เว้นแต่บริเวณตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก มีค่าสมดุลน้ำสะสม 10-70 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-40) มม. เว้นแต่บริเวณจังหวัดตรัง มีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-20 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีแม้จะมีฝนตกแต่สมดุลน้ำยังคงมีค่าเป็นลบ ประกอบกับใน 7 วันข้างหน้าจะมีฝนฟ้าคะนอง แต่ปริมาณและการกระจายยังคงมีน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของพืชเป็นส่วนใหญ่ เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม ส่วนในช่วงวันที่ 20-23 มี.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว เนื่องจากฝนที่ตกและหยุดในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ