พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 9 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Monday July 9, 2018 15:10 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 9-15 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 82/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 9-15 ก.ค. บริเวณประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 9-15 ก.ค. บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้จะมีฝนตกหนักเกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่น ลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งจะกัดกินใบและยอดอ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ส่งผลให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรสำรวจและซ่อมแซมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มั่นคงแข็งแรง หลังคาอย่าให้รั่วซึม แผงกำบังฝนสาดอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ เนื่องจากระยะครึ่งหลังของเดือนปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำ สุด 24-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากในระยะที่ผ่านมามีฝนตกชุก ทำให้วัชพืชต่างๆเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกเพื่อไม่ให้แย่งธาตุอาหารจากพืชที่ปลูก และเป็นการตัดวงจรชีวิตของศัตรูพืช ซึ่งศัตรูพืชบางชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ในวัชพืช
  • สำหรับข้าวนาปี ระยะนี้ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนม้วนใบ และหนอนห่อใบข้าว เป็นต้น หากพบควรรีบกำจัด เพื่อป้องกันการระบาดเป็นบริเวณกว้าง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงฤดูฝนแมลงและศัตรูสัตว์ต่างๆจะเจริญเติบโตได้ดีเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้ศัตรูสัตว์ดังกล่าวมารบกวนสัตว์เลี้ยง เพราะจะทำให้สัตว์ชะงักการเจริญเติบโตและศัตรูสัตว์บางชนิดอาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้
  • เนื่องจากในระยะปลายเดือนปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดเตรียมวัสดุสำหรับกั้นน้ำ และอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีฝนตกหนัก

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงฤดูฝนความชื้นในดินและในอากาศมีสูง เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วหากตัดแต่งกิ่งและขั้วผลควรทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา เพื่อป้องกันโรคพืชที่อาจเกิดขึ้นบริเวณแผลรอยตัด
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งอาจทำให้ต้นพืชเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราได้

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-45กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป:ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์80-90 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 9 – 15 ก.ค. จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวโดยขุดลอกคูคลอง และทางระบายน้ำอย่าให้ตื้นเขินน้ำไหลได้สะดวก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก
  • ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องโดยเฉพาะทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพูในยางพารา โรคราสนิมในกาแฟเป็นต้น
  • ส่วนทางฝั่งตะวันออกจะมีฝนในระยะบ่ายถึงค่ำซึ่งจะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนด้วย
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 9 – 15 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 9-15 ก.ค. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนกรกฎาคม (ในช่วงวันที่ 1-8 ก.ค.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสม 5-100 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกตอนล่าง และตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มีปริมาณฝนสะสม 100-200 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสม 0-100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกตอนล่าง และตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มีปริมาณฝนสะสม 100-200 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-40 มม. โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมสูงกว่าบริเวณอื่น

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-40) มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณขอบของประเทศทั้งด้านตะวันตกและด้านตะวันออกของประเทศ และภาคตะวันออกตอนล่าง ที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมน้ำเป็นบวก คือ 1 - 100 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1-200 มม. เว้นแต่บริเวณทางตอนล่างของภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-20) มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7วันข้างหน้า ประเทศไทยจะยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนักนอกจากนี้ควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ