พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 29 สิงหาคม - 4 กันยายน พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Wednesday August 29, 2018 15:06 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม - 4 กันยายน พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 104/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 29-31 ส.ค. 61 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 4 ก.ย. 61 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น

คำเตือน ในช่วงวันที่ 29-31 ส.ค. 61 บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 29-31 ส.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 4 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีฝนตกน้อย เกษตรกรควรเตรียมกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย
  • ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ผลที่ร่วงหล่น เน่าเสีย และเปลือกผลไม้กองอยู่ภายในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช
  • สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในช่วงปลายฤดูฝนควรคลุกเมล็ดพันธุ์หรือชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งควรมีแหล่งน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะผลิดอกออกผลไว้ด้วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 29-31 ส.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 4 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ฝนที่ตกในระยะนี้ทำให้ความชื้นในอากาศสูง ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในข้าวนาปี โดยเฉพาะโรคไหม้ ซึ่งโรคดังกล่าวสามารถระบาดในข้าวทุกระยะการเจริญเติบโต ทำให้ต้นข้าว ชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • ในช่วงฤดูฝน แมลงและศัตรูสัตว์ต่างๆ เช่น ยุง เหลือบริ้น ไรต่างๆ จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ศัตรูสัตว์มารบกวนสัตว์เลี้ยง เพราะจะทำให้สัตว์ชะงักการเจริญเติบโต และอาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้
  • พื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วม เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่มากับน้ำ เช่นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารโรคตาแดง และน้ำกัดเท้า เป็นต้น

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 29-31 ส.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 4 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ในระยะนี้ ไม่ควรปล่อยให้สัตว์อยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน รวมทั้งจัดหาและเตรียมพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง เอาไว้อพยพสัตว์ เมื่อมีน้ำท่วมพื้นที่เลี้ยงสัตว์รวมทั้งจัดเตรียมอาหาร และน้ำกินสำหรับสัตว์ตลอดจนอุปกรณ์สำหรับส่องสว่างในตอนกลางคืน เอาไว้ให้พร้อมใช้งาน
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดเตรียมระบบระบายน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในแปลงปลูกเมื่อมีฝนตกหนัก รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุสำหรับกั้นน้ำและอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 29-31 ส.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 1–4 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกไม้ผลควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราใบติดในทุเรียน โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน
  • พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำขังในพื้นที่เพาะปลูกและโคนต้นพืช เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 29-31 ส.ค. 61 ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1– 4 ก.ย. 61 ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตรห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 29-31 ส.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณ ที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 4 ก.ย. 61 ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนในช่วงบ่ายและค่ำ ซึ่งจะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล ส่วนเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้สามารถทำได้เนื่องจากความชื้นดินมีเพียงพอ
  • พื้นที่ซึ่งมีฝนตกและหยุดสลับกัน สภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่นใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • ส่วนพื้นที่การเกษตรทีถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว ควรรีบพื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ตามปกติ ไม่ควรปล่อยให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. – 4 ก.ย. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนสิงหาคม (ในช่วงวันที่ 1-28 ส.ค.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 400 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณตอนบนและตอนล่างของภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ที่มีปริมาณฝนสะสม 400-800 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 22-28 ส.ค. ) ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสม 25-200 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มีปริมาณฝนสะสม 200-300 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม.

สมดุลน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1–150 มม. เว้นแต่บางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกด้านตะวันตก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-30) มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยจะยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม นอกจากนี้พื้นที่ซึ่งมีฝนตก เกษตรกรควรดูแลระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณแปลงปลูกเป็นเวลานาน เพระจะทำให้ต้นพืชเสียหายและตายได้ รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอก และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ