พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 12 - 18 กันยายน พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Wednesday September 12, 2018 15:02 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 12-18 กันยายน พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 110/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ลักษณะ ในช่วงวันที่ 12 – 18 ก.ย. 61 บริเวณประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 12 – 18 ก.ย. 61 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง อนึ่ง พายุโซนร้อน “บารีจัต” (BARIJAT) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนผ่านตอนใต้ของเกาะฮ่องกง และ เกาะไหหลำ ประเทศจีนในช่วงวันที่ 13-14 ก.ย. 61 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงบริเวณเกาะไหหลำ สำหรับพายุไต้ฝุ่น “มังคุด”(MUNGKHUT) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนผ่านเกาะลูซอนประเทศฟิลิปปินส์และตอนใต้ของเกาะไต้หวันในช่วงวันที่ 14-15 ก.ย. 61 หลังจากนั้นจะเคลื่อนลงทะเลจีนใต้ตอนบนและขึ้นฝั่งบริเวณเกาะฮ่องกงและชายฝั่งด้านตอนใต้ของประเทศจีน แล้วผ่านเกาะไหหลำ และประเทศเวียดนามในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย. 61 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงบริเวณประเทศเวียดนาม

คำเตือน ในช่วงวันที่ 12 – 14 และ 17 – 18 ก.ย. 61 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน จะมีฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 12 – 14 และ 17 – 18 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน ปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณภาคเหนือจะเริ่มลดลง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
  • แม้ปริมาณฝนจะลดลง แต่ความชื้นในดินและในอากาศยังคงมีอยู่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้ โดยดูแลแปลงปลูกพืชให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมในพื้นที่เพาะปลูกป้องกันโรคพืชดังกล่าว

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 12 – 14 และ 17 – 18 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • พื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วม เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรกหากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรค เลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่ายโดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบ เช่น โคและกระบือ เป็นต้น อาจป่วยเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 12 – 14 และ 17 – 18 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูกเป็นเวลานานทำให้รากพืชขาดอากาศและต้นพืชตายได้โดยจัดเตรียมวัสดุสำหรับกั้นน้ำและอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกใหม่ ควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อให้น้ำผสมเป็นเนื้อเดียวกัน ป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 13 – 18 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย. 61 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้
  • ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย และตายได้

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 13 – 18 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย. 61 ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตรห่างฝั่งมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 13 – 18 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย. 61 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมดังกล่าวจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออกกับมีฝนตกหนักได้บางพื้นที่ ในช่วงที่
มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลลาก ไว้ด้วย
  • สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนในช่วงบ่ายและค่ำ ซึ่งจะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีฝนเว้นช่วงไปหลายๆวัน
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันโดยเฉพาะทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคหน้ากรีดยาง โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า และโรคราสีชมพู ในยางพาราโรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น
  • ในช่วงวันที่ 12 – 14 ก.ย. และ 17-18 ก.ย. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 12 – 18 ก.ย. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนกันยายน (ในช่วงวันที่ 1-11 ก.ย.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 200 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณตอนบนและตอนล่างของภาคตะวันออก ที่มีปริมาณฝนสะสม 200-300 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 5-11 ก.ย. ) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสม 5-100 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ที่มีปริมาณฝนสะสม 100-150 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 25-35 มม. เป็นส่วนใหญ่

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1–150 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-30) มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-30) มม. เว้นแต่ทางตอนล่างของภาคที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ1-40 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่ และฝนหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยจะมีฝนกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนที่ตกหนักและฝนตกสะสมต่อเนื่องซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอก และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ