พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 14 - 20 กันยายน พ.ศ. 2561
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 111/61
การคาดหมายลักษณะอากาศ ลักษณะ ในช่วงวันที่ 14 – 16 ก.ย. 61 บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 17-20 ก.ย. 61 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร
ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 14 – 20 ก.ย. 61 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมบริเวณทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 17-20 ก.ย. 61 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น
คำเตือน ในช่วงวันที่ 17-20 ก.ย. 61 ขอให้เกษตรกรบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง ตลอดช่วง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 17 – 20 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงวันที่ 17 – 20 ก.ย. จะมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง รวมทั้งดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
- ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ โดยดูแลแปลงปลูกพืชให้โปร่งอากาศถ่ายเท สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 17 – 20 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงนี้จะมีฝนตกหนักบางแห่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้บางพื้นที่ เกษตรกรผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่นโคและกระบือ เป็นต้น
- ระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้สภาพอากาศมีความชื้นสูงชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อราโดยเฉพาะโรคไหม้ ซึ่งจะทำให้ต้นข้าวเสียหาย ส่วนบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของหอยเชอรี่ที่ลอยมากับน้ำ ซึ่งจะแพร่พันธุ์ในแปลงนาและกัดกินต้นข้าวได้รับความเสียหาย
ภาคกลาง
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-25องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูกเป็นเวลานานทำให้รากพืชขาดอากาศและต้นพืชตายได้ โดยจัดเตรียมวัสดุสำหรับกั้นน้ำและอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
- สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อควรสำรวจขอบบ่อให้ดูมั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันน้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อซึ่งจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และเปิดเครื่องตีน้ำหลังจากมีฝนตกหนัก เพื่อปรับสภาพน้ำและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ภาคตะวันออก
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 14-15 ก.ย. 61ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่16-20 ก.ย. 61 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง รวมทั้งดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง เมื่อมีฝนตกหนัก
- ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา โรครากขาวในพริกไทย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย และตายได้
- ในช่วงวันที่ 16-20 ก.ย. บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูง 2-3เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ภาคใต้
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 16-19 ก.ย. 61ในช่วงวันที่ 14-15 ก.ย. 61 ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตรห่างฝั่งคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่16-20 ก.ย. 61 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ในช่วงวันที่14-15 ก.ย. 61 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 16-20 ก.ย. 61 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง
- ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความ ชื้นสูงเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมในกาแฟ โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรครา สีชมพูในยางพารา เป็นต้น โดยดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสม
- สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว เกษตรกร ไม่ควรปล่อยให้ผลเน่าเสีย และร่วงหล่น ตลอดจนเปลือกผลไม้กองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืชโดยเฉพาะโรคพืช ที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งอาจลุกลามมาสู่ต้นพืชได้
- ระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูง 2-4เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
ปริมาณฝนสะสมเดือนกันยายน (ช่วงวันที่ 1-13 ก.ย.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 200 มม. เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้านตะวันออก และภาคตะวันออกบริเวณตอนบนและตอนล่างของภาค ที่มีปริมาณฝนสะสม200-400 มม.
ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 7-13 ก.ย. ) ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ที่มีปริมาณฝนสะสม 100-300 มม.
ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม.
สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1–400 มม. โดยเฉพาะบริเวณทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวกสูงกว่าบริเวณอื่นๆ สำหรับบริเวณที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-30) มม. ได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันออก
คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้าประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงวันที่ 17-20 ก.ย. กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนที่ตกหนักและฝนตกสะสมต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม ในช่วงดังกล่าวไว้ด้วย นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอก และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74