พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 24 - 30 กันยายน พ.ศ. 2561
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 115/61
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 25-27 ก.ย. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกน้อย ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “จ่ามี” (TRAMI) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านบริเวณเกาะไต้หวัน และเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศญี่ปุ่น ในช่วงวันที่ 28-30 กันยายน ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทางด้วย โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 25-27 ก.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีฝนตกน้อย ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. บริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมประเทศไทยตอนบนทำให้ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน มีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง
คำเตือน ในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 25-27 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรกักเก็บน้ำ ไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย เนื่องจากระยะต่อไปฝนจะลดลง
- ในบางพื้นที่ที่ฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศรัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่และพืชสวน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ผลผลิตเสียหายและด้อยคุณภาพ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 25-27 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในบางพื้นที่ที่น้ำลดระดับลงแล้วควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกแล้วพื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม รวมทั้งควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย เนื่องจากระยะต่อไปฝนจะลดลง
- ในบางพื้นที่ที่ฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ เช่น หนอนเจาะลำต้นและหนอนเจาะฝักในข้าวโพด เป็นต้น
ภาคกลาง
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 25-27 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรกักเก็บน้ำ ไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง
- สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของต้นพืชทำให้ต้นพืชเสียหายและผลผลิตด้อยคุณภาพ
ภาคตะวันออก
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 24-26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 27-30 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงวันที่ 27-30 ก.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรดูแลระบบระบายน้ำ ให้มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
- ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชไร่ เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผลโรคหน้ากรีดยางและโรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา เป็นต้น
ภาคใต้
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตรห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 24-26 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด26-33 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชไร่ เช่นโรคราสนิมในกาแฟ โรคราสีชมพู และโรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น
- เกษตรกรไม่ควรปล่อยผลไม้หรือเศษซากของพืชร่วงหล่นและกองสุมอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช ซึ่งจะนำความเสียหายมาสู่ต้นพืชได้
- ในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
ปริมาณฝนสะสมเดือนกันยายน (ช่วงวันที่ 1-23 ก.ย.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสม 50-200 มม. เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มีปริมาณฝนสะสม 200-800 มม.
ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 17-23 ก.ย. ) ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกตอนล่าง ที่มีปริมาณฝนสะสม 100-150 มม.
ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-30 มม.
สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1-100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณตอนกลางของประเทศ ที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) - (-30) มม.
คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้าในช่วงวันที่ 25-27 ก.ย. ประเทศไทยจะมีฝนลดลง เกษตรกรควระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ผลผลิตเสียหายได้ ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก นอกจากนี้เกษตรกรในภาคตะวันออกและภาคใต้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอก และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74