พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 19 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 126/61
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณณฑลมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 ต.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนลดลงสำหรับภาคเหนือ ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง และมีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ลงทะเลอันดามัน ซึ่งจะทำให้บริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณณฑล มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนลดลง ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้
คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยส่วนบริเวณ ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 ต.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ส่วนมากทางตะวันตกของภาค ลมตะวันออกเฉียงใต้ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว อากาศจะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
- เนื่องจากอุณหภูมิตอนกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันมากผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
- สำหรับไม้ผลที่ออกดอกในช่วงฤดูหนาว เช่น ลิ้นจี่และลำไยเกษตรกรควรกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียน เพื่อให้ดินบริเวณโคนต้นแห้ง และเป็นการตัดวงจรชีวิตของโรคและศัตรูพืช
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 19-21 ต.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 ต.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูหนาว เกษตรกรควรจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับกันหนาวเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน
- ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเตรียมจัดทำ แผงกำ บังลมหนาวเพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน และจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์สำหรับให้ความอบอุ่นภายในโรงเรือนเอาไว้ให้พร้อม
- เนื่องจากฝนที่ตกและหยุดสลับกันในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ไม้ผล ตลอดจนข้าวนาปี ซึ่งจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้
ภาคกลาง
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วงโดยในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. 61 มีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง
- ส่วนเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ยังคงทำได้ แต่ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโต โดยเฉพาะในช่วงที่พืชผลิดอกออกผลจะเป็นช่วงที่พืชต้องการน้ำมากกว่าระยะอื่นๆหากได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพถ้าขาดน้ำจะทำให้สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง
ภาคตะวันออก
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วงโดยในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. มีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ฝนที่ตกและหยุดสลับกันในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผลและพืชผักต่างๆ ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้
- แม้บางพื้นที่ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงแต่ความชื้นในดินยังคงมีอยู่ เกษตรกรยังคงต้องระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย และตายได้
ภาคใต้
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันออกความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันออกความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนเพิ่มขึ้นกับจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
- เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูฝนของทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรจัดทำทางระบายน้ำและขุดลอกคูคลองระบายน้ำที่ออกจากพื้นที่เพาะปลูกอย่าให้ตื้นเขิน น้ำสามารถระบายได้สะดวก เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก เมื่อมีฝนตก
- พื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกัน ทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล ซึ่งมักระบาดในช่วงที่ดินมีความชื้นสูง สร้างความเสียหายให้กับสวนผลไม้มาก
ปริมาณฝนสะสมเดือนตุลาคม (ช่วงวันที่ 1-18 ต.ค.) ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสม 50-300 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก ภาตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ที่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม.
ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 10-16 ต.ค.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกตอนล่าง และภาคใต้ฝั่งตะวันตกตอนล่าง ที่มีปริมาณฝนสะสม 50-150 มม.
ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม.
สมดุลน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) - (-40) มม. เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้านตะวันออก ภาคตะวันออกตอนล่าง และภาคภาคใต้ตอนล่าง ที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1–100 มม.
คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่ และตกหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนกับฟ้าคะนองกับฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย สำหรับภาคใต้จะยังมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ไว้ด้วย นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74