พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 5 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Monday November 5, 2018 13:28 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 5-11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 133/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในข่วงวันที่ 5-6 พ.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ แต่ยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ ส่วนในช่วงวันที่ 9-11 พ.ย. บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 5-6 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ ส่วนในช่วงวันที่ 7-10 พ.ย. หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย จะเคลื่อนผ่านภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง ในขณะที่ในช่วงวันที่ 9-11 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ประกอบกับคลื่นกระแสลมตะวันตกพัดปกคลุมภาคเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้

คำเตือน ในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. ขอให้ประชาชนในบริเวณประเทศไทยตอนบน ระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 8-11 พ.ย. ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 5-12 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 8-11 พ.ย. อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียสสำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ปีกควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งควรหมั่นสังเกตหากพบสัตว์ที่ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่มและทำการรักษาเพื่อไม่ให้ เชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ
  • ระยะนี้อากาศเย็นและชื้น กับมีหมอกในตอนเช้า เหมาะกับการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคแอนแทรคโนสในถั่วเหลือง โรคดอกเน่าในดาวเรือง และโรคราน้ำค้างในพืชผักตระกูลกะหล่ำ เกษรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก เมื่อพบควรรีบควบคุมก่อนระบาดไปยังต้นอื่นๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-13 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 8-11 พ.ย. อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาวอุณหภูมิต่ำสุด 11-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อยเกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง และควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินรักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน
  • ระยะนี้ยังคงมีอากาศเย็นโดยทั่วไป ทำห้ปลากินอาหารได้น้อยลงเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชัง ควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง เพื่อไม่ให้อาหารที่เหลือทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบกับปลา รวมทั้งลดปริมาณปลาไม่ให้อยู่อย่างแออัดเกินไป ซึ่งจะทำให้ปลากระทบกระทั่งกันจนเกิดเป็นแผล และติดเชื้อโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 8-11 พ.ย. มีฝนฟ้าคะน้องร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ปริมาณฝนเริ่มลดลงกับมีอากาศเย็นและชื้นในตอนเช้าเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ดอก และพืชผักต่างๆ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะใบแก่ โดยเฉพาะมะม่วง ชาวสวนควรงดให้น้ำเพื่อให้ต้นพักตัวเร็วขึ้น และช่วยเร่งให้มีการสร้างตาดอก รวมทั้งควรกำจัดวัชพืชและทำความสะอาดสวน และใต้ทรงพุ่ม เพื่อให้ดินใต้ทรงพุ่มแห้งเร็วขึ้น นอกจากนี้ควรป้องกันกำจัดโรคแมลงที่มีระบาดในระยะนี้ เช่น ด้วงกรีดใบและเพลี้ยชนิดต่างๆ เป็นต้น

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. มีเมฆบางส่วน กับมีหมอกในตอนเช้า ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรส่วนในช่วงวันที่ 8-11 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานหากเกษตรกรต้องการปลูกพืชในระยะนี้ ควรปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น และใช้น้ำน้อย เนื่องจากปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อยลงในช่วงฤดูหนาว
  • ระยะนี้จะมีอากาศเย็นและมีฝนน้อย ไม้ผลที่อยู่ในระยะพักตัวเพื่อสะสมอาหาร ชาวสวนควรงดให้น้ำเพื่อให้ต้นพักตัวเร็วขึ้น และช่วยเร่งให้มีการสร้างตาดอก รวมทั้งควรกำจัดวัชพืชและทำความสะอาดสวน และใต้ทรงพุ่ม เพื่อให้ดินใต้ทรงพุ่มแห้งเร็วขึ้น นอกจากนี้ควรป้องกันกำจัดโรคแมลงที่มีระบาดในระยะนี้ เช่น ด้วงกรีดใบ และเพลี้ยชนิดต่างๆ เป็นต้น

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 5-6 และ 10-11 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 5-8 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 9-11 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ โดยในช่วงวันที่ 9-10 พ.ย. มีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึ่งหนักมากบางแห่ง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังโคนต้นพืชโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นที่ลุ่ม เกษตรควรจัดระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวน เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา และโรคราสีชมพูในลองกอง เป็นต้น
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 7-11 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 5-11 พ.ย. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนพฤศจิกายน (ช่วงวันที่ 1-4 พ.ย.) บริเวณประเทศไทยตอนบนไม่มีรายงานฝนตก สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 5-50 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ทางตอนล่างของภาคที่มีปริมาณฝนสะสม 50-200 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 29 ต.ค. – 4 พ.ย.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เว้นแต่ในภาคใต้ตอนล่าง ที่มีปริมาณฝนสะสม 25-300 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม.

สมดุลน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) - (-40) มม. เว้นแต่บริเวณภาคใต้ตอนล่าง ที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1 – 300 มม.

คำแนะนำ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกและหมอกหนาบางพื้นที่ในตอนเช้า เกษตรกรควรระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาใว้ด้วย สำหรับภาคใต้จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนหนักบางแห่งโดยเฉพาะทางตอนล่างของภาคเกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก และควรระวังป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ